จงรักหมดปัญญา ที่จะขอตัววัฒนา

การติดตามตัวนายวัฒนา  อัศวเหม  อดีต  รมช. มหาดไทย และประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อแผ่นดิน จำเลยในคดีทุจริตซื้อที่ดินก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ  จ.สมุทรปราการ 

ที่คาดว่า  หลบหนีเข้าไปหลบ ซ่อนอยู่ในประเทศกัมพูชา กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง มีคำพิพากษาจำคุก 10 ปี ความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 ส.ค. พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร. เรียก พล.ต.ต.ชาญ รัตนธรรม ผบก.คด. และ พล.ต.ต.วิษณุ ปราสาททองโอสถ ผบก.ตท. เข้าประชุมเพื่อวางแนวทางการประสานงานกับประเทศกัมพูชานำตัวนายวัฒนากลับเมืองไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน  ภายหลังการประชุม พล.ต.อ.จงรัก กล่าวว่า การนำตัวนายวัฒนา อัศวเหม มาลงโทษ  ต้องพิจารณาตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทย กับกัมพูชา สนธิสัญญาดังกล่าว ประกาศใช้บังคับตั้งแต่ พ.ศ. 2544 มีหลักเกณฑ์หลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ ต้องเป็นความผิดที่กระทำหลังจากสนธิสัญญามีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่  1  เม.ย.  44 


พล.ต.อ.จงรักกล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาจากคำ พิพากษาของศาลแล้ว ปรากฏว่า ความผิดที่นายวัฒนา กระทำเกิดขึ้น 2 ช่วง

คือ ระหว่างวันที่ 10 ส.ค. 31 ถึง 23 ก.พ. 34 และระหว่างวันที่ 21 เม.ย. 35 ถึงวันที่ 15 มิ.ย. 38 เป็นช่วงก่อนปี 44 ที่สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้าม แดนประกาศใช้บังคับ  ทำให้ไม่สามารถใช้สนธิสัญญาดังกล่าวเพื่อร้องขอให้รัฐบาลกัมพูชาส่งตัวนายวัฒนา มาลงโทษในประเทศไทย เพราะสนธิสัญญาระบุไว้ชัดว่า ไม่ให้ใช้บังคับสำหรับความผิดที่เกิดขึ้นก่อนปี 44 สำนักงาน ตำรวจแห่งชาติจะประมวลเรื่องส่งไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการต่อไป อาจจะมีช่องทางอื่นเจรจาขอ ความร่วมมือกับประเทศกัมพูชาได้ แต่ค่อนข้างยาก เนื่อง จากนายวัฒนาไปลงทุนทำธุรกิจในประเทศกัมพูชานานแล้ว มีบ่อนกาสิโน 2 แห่ง คุ้นเคยกับนักการเมือง และนักธุรกิจ ในกัมพูชาเป็นอย่างดี กัมพูชาคงไม่ติดตามจับกุมส่งกลับ มาลงโทษในไทยแน่นอน 


นายมั่น พัธโนทัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที คนสนิทของนายวัฒนา  อัศวเหม  กล่าวว่า  ก่อนหน้านี้ มีการพูดคุยกับนายวัฒนาบ้าง

แต่หลังจากศาลมีคำพิพากษา ออกมาก็ไม่ได้คุย เพราะนายวัฒนาก็รู้ว่าคงกลับมาลำบาก รู้และรับสภาพอยู่แล้ว เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวเห็นนายวัฒนานั่งเฮลิคอปเตอร์ไปลงที่บ่อนในกัมพูชา แล้วกลับไปยังกรุงพนมเปญ นายมั่นกล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ได้ติดตาม และยังไม่ได้คุยกัน แต่นายวัฒนาเคยพูดว่า ได้เตรียมใจ ไว้แล้วเหมือนกันว่าอาจจะถูกตัดสินจำคุก นายวัฒนาก็อายุมากแล้ว ถ้าต้องมาติดคุกสู้ไปหาทางหลบพักอยู่ที่ไหนดีกว่า เพราะคดีนี้มีอายุความ 15 ปี คงจะเงียบหายไปจาก สังคม  เพราะนายวัฒนาก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรแล้ว


ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า นายวัฒนาฝากให้ดูแลลูกชาย ในการดำเนินการทางการเมืองอย่างไรหรือไม่ นายมั่นกล่าวว่า ความจริงทั้งนายชนม์สวัสดิ์ และนายพูลผล อัศวเหม เป็นคนที่ชอบงานการเมืองท้องถิ่นมาก

ส่วนการเมืองระดับ ชาติไม่ค่อยสนใจ โดยเฉพาะนายชนม์สวัสดิ์ ลูกชายคนโต ขอไม่ยุ่งกับการเมืองเลยจะให้เป็นรัฐมนตรีก็ไม่เอา  ส่วนพรรคเพื่อแผ่นดินมีผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนดูแลรวมๆกันอยู่ เวลานี้ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร หลายคนในพรรคก็ช่วยกัน พรรคเพื่อแผ่นดินไปได้ด้วยตัวของมันเอง และคงไม่ต้องมีการแต่งตั้งประธานที่ปรึกษาพรรคคนใหม่


ขณะเดียวกัน นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับคดีดังกล่าวเป็นคดีในส่วนของ ป.ป.ช. ที่ส่งให้อัยการดำเนินการในกรณีที่จำเลยเป็นนักการเมือง

มีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน คือประเด็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงที่ดิน ศาลตัดสินจำคุก 10 ปี อีกประเด็นคือ การฉ้อโกงโครงการ มีนักการเมืองเกี่ยวข้องอีกหลายคน ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา นอกจากนี้ ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษยังฟ้องคดีอาญากับกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี เป็นบริษัทที่รับดำเนินการโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่านในประเด็นฉ้อโกงที่ดิน และฉ้อโกงสัญญา มีนายวัฒนา อัศวเหม เป็นจำเลยอยู่ด้วย ศาลสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว เหลือสืบพยานจำเลย คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 7-8 เดือน รวมไปถึงคดีฟ้องแพ่งที่กรมควบคุมมลพิษยื่นฟ้องกิจการร่วมค้าฯอยู่ในระหว่างการดำเนินการฟ้องศาลฎีกา หลังจากที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ยกฟ้องไปก่อนหน้านี้ และยังมีกระบวนการเจรจาในอนุญาโตตุลาการอีกด้วย


อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวต่อว่า ระหว่างการดำเนินการเรื่องคดีความที่ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไร

บริเวณโครงการบำบัดน้ำเสียที่สร้างเสร็จสิ้นไปแล้วถึง 98 เปอร์เซ็นต์ กลับถูกทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร จากการปรึกษากับอัยการ ได้รับความเห็นว่า ไม่ว่ากรมควบคุมมลพิษจะชนะคดีหรือไม่ ทรัพย์สินดังกล่าวต้องตกเป็นของรัฐอยู่ดี กรมควบคุมมลพิษจึงเตรียมนำเรื่องเสนอ ครม. เพื่อขอมติเกี่ยวกับการ จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาว่าในระหว่างที่มีการดำเนินการด้านคดีความจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำทรัพย์สิน หรือระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่สร้างเกือบเสร็จไปใช้ประโยชน์โดยไม่กระทบต่อคดี เนื่องจากเห็นว่า หากปล่อยทิ้งร้างไว้จะสร้างความเสียหายมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงประเด็นที่บริษัทร่วมค้าฯขอเจรจาในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เกี่ยวกับการเรียกร้องเงินค่าก่อสร้างที่เหลือ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์