มรดกและทายาททักษิณ

มรดกและทายาททักษิณ โดย...นิธิ เอียวศรีวงศ์

คนที่จะเป็นทายาทได้ ต้องมีฐานพรรคการเมืองที่ใหญ่ และมีบารมีทางการเมืองพอสมควร หัวหน้ามุ้งต่างๆ ในพรรค พปช.ไม่มีบารมีทางการเมืองพอ (อย่างน้อยก็ยังต้องอาศัยบารมีทางการเมืองของคุณทักษิณ เพื่อเรียกคะแนนเสียงและรวมกลุ่มได้)
ผมทำนายไม่ได้ว่า จะมี "วันของผม" ตามคำแถลงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกลับมาอีกหรือไม่ แต่ถึงมีผมก็เชื่อว่าจะไม่เหมือนวันเก่าๆ อีกแล้ว

การไม่ยอมรับอำนาจของศาลไทย (แม้เหตุขัดข้องจะเป็นกระบวนการก่อนที่คดีจะขึ้นสู่ศาล แต่คดีได้ขึ้นสู่ศาลแล้ว) การหลบหนีครั้งนี้ จึงทำให้คุณทักษิณพิการในทางการเมืองตลอดไป

เป็นภาระที่หนักมากขึ้นแก่บริวารที่จะโอบอุ้ม และยิ่งถูกต่อต้านขัดขวางอย่างหนักจากคนชั้นกลางในเมือง ถึงคุณทักษิณสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ใหม่ รัฐบาลนั้นก็คงไม่สามารถดำเนินนโยบายอย่างรวบรัดฉับไวได้ตามใจนายกฯ อีกแล้ว ยังไม่พูดถึงความร่วมไม้ร่วมมือของกลุ่มทุน,กลุ่มธุรกิจ,กลุ่มนักวิชาการ,ข้าราชการ ฯลฯ ซึ่งคงลังเลที่จะเข้าไปร่วมถูกถล่ม


อย่าลืมด้วยว่า แม้นักการเมืองไทยเคยลี้ภัยไปต่างประเทศมาหลายคนแล้ว แต่คุณทักษิณเป็นนักการเมืองคนแรกที่ลี้ภัยโดยมีคดีติดตัว (ยังไม่พูดถึงคดีอาญาที่ติดตัวสมาชิกของครอบครัวอีกหลายคน)

หาก"วันของผม"กลับมาใหม่โดยผ่านการรัฐประหาร สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เพราะการรัฐประหารไม่ว่าทำโดยฝ่ายใด ไม่มีทางที่จะสยบฝ่ายตรงข้ามได้เสียแล้ว หากดึงดันจะสยบให้ได้ก็ต้องนองเลือด และเหยื่อของการนองเลือดในการเมืองไทย (นอกจากผู้คนที่ถูกสังหารหมู่) คือนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เสมอ อย่างน้อยก็เพื่อรักษาให้คนอื่นซึ่งมีส่วนร่วมในการสังหารหมู่รอดตัวไป อันที่จริงผมมีความเห็นตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย.แล้วว่า คุณทักษิณในฐานะบุคคลนั้นได้ถึงแก่กรรมทางการเมืองไปแล้ว ที่เหลืออยู่คือเงาหรืออิทธิพลและเงินซึ่งนักการเมืองย่อมเอาไปใช้ประโยชน์ได้ และแน่นอนเมื่อยืมไปใช้ก็ต้องเอื้อประโยชน์ของคุณทักษิณ อย่างที่นักการเมืองไทยเคยเอื้อประโยชน์แก่นักการเมืองใหญ่และเศรษฐีใหญ่มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม การไม่รับอำนาจศาลของคุณทักษิณในครั้งนี้ คงทำให้คนอื่นมองเห็นถนัดขึ้นว่า บทบาททางการเมืองในระบบของคุณทักษิณนั้นน่าจะจบลงอย่างสิ้นเชิงแน่ ผมจึงคิดว่า คงไม่ผิดเวลาที่จะหันกลับมาดูมรดกและทายาททางการเมืองของคุณทักษิณในตอนนี้

คุณทักษิณขึ้นมาเป็นนายกฯ ในช่วงที่ความเปลี่ยนแปลงในชนบทไทยได้พัฒนาไปไกลมากแล้ว ผลทางการเมืองของความเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือ มีความตื่นตัวทางการเมืองของคนระดับล่างมากขึ้น (เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ผมหวังว่าจะมีโอกาสเขียนถึงในวันข้างหน้า) แม้แต่ความสำเร็จของพรรค ทรท.ในการเลือกตั้งครั้งแรกซึ่งมักอ้างกันว่ามาจากการสนับสนุนของเอ็นจีโอ แต่เอ็นจีโอจะสนับสนุนให้สำเร็จได้อย่างไรโดยปราศจากฐานของสำนึกทางการเมืองที่มีอยู่แล้ว

จะไม่มีรัฐบาลใดมีความมั่นคงได้อีก หากไม่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ส่วนภูมิภาคดังกล่าว คุณทักษิณตอบสนองด้วยการเบนงบประมาณลงไปยังส่วนภูมิภาคโดยตรง (หรือที่เรียกว่านโยบายประชานิยม) แต่ขาดการสร้างกลไกอย่างจริงจังที่จะทำให้งบประมาณเหล่านี้ กระจายลงไปยังประชาชนได้ทั่วถึง และกระจายในลักษณะที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน แม้กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการตอบสนองทางการเมืองที่ชาญฉลาด และให้ผลดีแก่คุณทักษิณอย่างรวดเร็วทันใจ

ผลดีทางการเมืองอย่างหนึ่งก็คือ เป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองสามารถคุม ส.ส.ในพื้นที่ได้ ถ่วงดุลเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในท้องถิ่นลง ทำให้ ส.ส.ในพื้นต้องตอบสนองต่อนโยบายมากขึ้นกว่าผลประโยชน์ของเครือข่ายในท้องถิ่น (แต่รัฐบาลทักษิณสามารถทำให้สองอย่างนี้ประสานกันได้ อย่างน้อยก็ในช่วงระยะหนึ่ง)

อย่างไรก็ตาม นโยบายเบนงบประมาณลงไปสู่ส่วนภูมิภาคโดยตรงนี้ ทำได้เมื่อมีเงิน หากเงินลดลงเพราะนโยบายไม่ทำให้เงินงอกขึ้นในส่วนภูมิภาคได้ทัน หรือถูกนำไปใช้เพื่อการอื่นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

(เช่นเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ หรือความตึงเครียดกับเพื่อนบ้าน) นโยบายนี้ก็ดำเนินต่อไปไม่ได้ และการยุตินโยบายจะยิ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนที่เคยได้รับประโยชน์มากขึ้น
พรรคการเมืองที่จะจัดตั้งรัฐบาลที่มีความมั่นคง ต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคส่วนนี้ ส่วนจะตอบสนองอย่างไร เหมือนหรือไม่เหมือนกับ ทรท.เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่พรรคการเมืองที่ยังเกาะอยู่กับคะแนนเสียงจากเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์อย่างเดียว นับวันก็จะได้ที่นั่งในสภาน้อยลงไปเรื่อยๆ

ในทางตรงกันข้าม พรรคการเมืองก็ต้องโอนอ่อนต่อนโยบายที่ผลิตออกมาจากท้องถิ่นมากขึ้นไปพร้อมกัน การวางแผนโดยผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลาง (ซึ่งถูกกำกับควบคุมจากทุน-ธุรกิจระดับชาติ) อาจไม่ใช่เสียงเด็ดขาดเพียงเสียงเดียวเสียแล้ว องค์กรของผู้เชี่ยวชาญส่วนกลางเช่น สภาพัฒน์ อาจอ่อนลงกว่าที่ผ่านมา

ความสำเร็จทางการเมืองอย่างสูงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการตลาดแบบใหม่ พรรคการเมืองที่จะประสบความสำเร็จในภายหน้าต้องปรับเปลี่ยนการตลาดของตนให้สอดคล้องกับสภาพที่เปลี่ยนไปของสังคมไทย หรือทำการตลาดแบบใหม่บ้างเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีบทเรียนจากพรรคทรท.ว่า การตลาดแบบใหม่นั้นต้องไม่สร้างความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับคนชั้นกลาง เรื่องนี้พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะคนชั้นกลางกำลังขยายตัวในส่วนภูมิภาคด้วยเหมือนกัน และขึ้นชื่อว่าคนชั้นกลางแล้วย่อมเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองและสังคมได้ง่ายและเร็ว ส่วนที่คิดว่าไม่สร้างความเป็นปฏิปักษ์กับคนชั้นกลาง ก็อาจกลายเป็นความไม่พอใจคุกรุ่นในหมู่คนชั้นกลางได้ แฟนของ ASTV ไม่ได้มีเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่รวมเป็นปึกแผ่นแน่นหนาในส่วนภูมิภาคอยู่ไม่น้อย เอาใจคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ อาจไม่ได้ถูกใจคนชั้นกลางในภูมิภาค หรือในทางกลับกันได้ทุกเมื่อ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้คนชั้นกลางไทยซึ่งขาดจุดยืนอันมั่นคงทางสังคมและการเมืองเอง ก็มีความสลับซับซ้อนภายในชั้นของตนเองมากขึ้น ฉะนั้นจึงจัดการการตลาดยาก

แม้สังคมไทยแตกตัวออกสลับซับซ้อนขึ้น จนทำให้เกิดความแตกแยก โดยเฉพาะระหว่างคนชั้นกลางในเมืองกับเกษตรกรในชนบท (รวมแรงงานส่วนหนึ่ง)

แต่ก็มีสองสถาบันที่ได้รับความนิยมนับถือข้ามชนชั้น นั่นก็คือสถาบันสงฆ์และสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งสองสถาบันนี้ถูกปรปักษ์ใช้บ่อนทำลายอำนาจและอิทธิพลของคุณทักษิณ การเมืองในอนาคตของไทยจะต้องไต่เส้นลวดอย่างระมัดระวัง ไม่เปิดโอกาสให้ปรปักษ์ใช้สถาบันทั้งสองเป็นเครื่องมือโจมตีได้ ฉะนั้นจึงเป็นไปได้มากว่า รัฐบาลในอนาคตจะรักษาสถานะเดิมของความสัมพันธ์กับสองสถาบันไว้อย่างเหนียวแน่น

แม้ว่าอำนาจต่อรองของกองทัพในทางการเมืองจะลดลงไปมาก แต่การจัดการทางการเมืองกับกองทัพก็ยังต้องใช้ความระมัดระวังอยู่นั่นเอง ถึงไม่แทรกแซงกองทัพเลย ก็ยังมีปัญหาที่รัฐบาลในอนาคตต้องเข้าไปกำกับควบคุมอยู่นั่นเอง

เช่นจะควบคุมงบประมาณทางทหารได้อย่างไร จะวางนโยบายความมั่นคงที่ต่างจากความเห็นของกองทัพได้อย่างไรเป็นต้น การสร้างพลังทางสังคมขึ้นมาต่อรองเพื่อถ่วงดุลกองทัพ ดังที่คุณทักษิณทำสำเร็จ ก็ไม่เป็นหลักประกันว่ากองทัพจะไม่เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง
ผมคิดว่า แนวทางการเมืองที่คุณทักษิณและพรรค ทรท.ทำไว้นั้นย่อมส่งผลต่อการเมืองไทยในอนาคตอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นแนวทางที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม แม้ตอบสนองได้ไม่ดีก็ตาม หากทว่าเมื่อสังคมเปลี่ยนไป แนวทางการเมืองก็ต้องเปลี่ยนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหาคือใครคือทายาททางการเมืองของคุณทักษิณ ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างเหมือนคุณทักษิณ แต่รู้ว่าต้องตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้


จนถึงนาทีที่เขียนบทความนี้ ผมยังมองไม่เห็น คนที่จะเป็นทายาทได้ ต้องมีฐานพรรคการเมืองที่ใหญ่ และมีบารมีทางการเมืองพอสมควร

หัวหน้ามุ้งต่างๆ ในพรรค พปช.ไม่มีบารมีทางการเมืองพอ (อย่างน้อยก็ยังต้องอาศัยบารมีทางการเมืองของคุณทักษิณ เพื่อเรียกคะแนนเสียงและรวมกลุ่มได้) แถมบริวารก็อาจแตกกระจัดกระจายไปได้ในภายหน้าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป พรรคการเมืองที่ดูจะมีความมั่นคงเป็นกลุ่มก้อนต่อไปได้ (หากไม่ถูกยุบ) จึงเหลือแต่พรรค ปชป.และ ชท. แต่การเมืองภายในของทั้งสองพรรคก็ทำให้ยากที่หัวหน้าพรรคจะเป็น"ทายาท"ได้ บางคนในชาวบ้านเลขที่ 111 อาจเป็นได้ แต่คนเหล่านั้นก็ขาดฐานพรรคการเมืองที่ใหญ่พอ


มองในแง่นี้ การเมืองไทยคงยุ่งเหยิงต่อไปอีกนาน เพราะตราบเท่าที่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่ได้รับการตอบสนองทางการเมือง ก็ยากที่การเมืองจะดำเนินไปโดยราบเรียบได้

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์