นายรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า
อดีตที่ผ่านมาตนเคยแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชนมาแล้ว และปัจจุบันก็สามารถนำมาต่อยอดจนทำให้ระบบขนส่งมวลชนขณะนี้ดีขึ้น โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ซึ่งในอนาคตต้องการให้รถไฟในประเทศมีความเร็วสูงถึงระดับ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือวิ่งจริงอย่างน้อยให้ได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อเป็นการกระจายและเพิ่มเส้นทางการคมนาคมให้สอดคล้องกับภาวะการณ์ปัจจุบัน
ด้าน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่จะย้ายชุมชนแออัดออกนอกเขต กทม. ว่า
หากพิจารณาถึงแนวคิดของนายสมัคร ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่ในส่วนของการปฏิบัติคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากว่าการย้ายชุมชนแออัดออกจากพื้นที่ชุมชนเมืองนั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น รัฐบาล กทม. การเคหะแห่งชาติ ในการหาที่อยู่ใหม่ องค์กรภาคประชาชน เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค การใช้งบลงทุนจำนวนมหาศาล นับตั้งแต่การหาพื้นที่ใหม่ การสร้างบ้านที่อยู่อาศัย การจัดหาสาธารณูปโภคที่จำเป็น เป็นต้น
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า
ที่ผ่านมา กทม.ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง และสามารถย้ายชุมชนแออัดบางแห่งออกจากพื้นที่กทม. ซึ่งในการย้ายชุมชนแออัดนั้น จะต้องเกิดจากความยินยอมพร้อมใจของชาวบ้าน หากเขาไม่ยอมจะไปไล่รื้อไม่ได้ถือว่าไม่เป็นธรรม
"ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะพูดอะไรไป จะต้องตอบให้ได้ว่า หากจะย้ายเขาออกไปจะหาที่อยู่ใหม่ตรงไหนให้เขา สิ่งที่นายกฯ พูดไปอยากจะให้คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย ว่าหากมีการย้ายจริง การประกอบอาชีพของประชาชนใหม่จะเป็นเช่นไร จะมีสถานศึกษาที่รองรับให้กับเยาวชนหรือไม่ การเดินทางคมนาคมจากถิ่นที่อยู่ใหม่ไปยังที่ทำงานจะต้องเตรียมพร้อมอย่างไร นอกจากนั้นต้องระบุให้ชัดเจนด้วยว่าหลักการบริหาร เพื่อให้การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนนั้นจะเป็นอย่างไร และหากจะโยนภาระงานมาให้ กทม.ทำอยู่ฝ่ายเดียวนั้นคงขอปฏิเสธ เนื่องจากเป็นงานที่ใหญ่เกินไปสำหรับการบริหารจัดการของกทม." นายพุทธิพงษ์ กล่าว
ส่วนนางประทิน เวควากะยานนท์ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า
ยังคงยืนยันในเจตนารมณ์เดิมคือ ไม่ย้ายไปอยู่นอกพื้นที่สลัมในเมืองก็ต้องอยู่ในเมือง ซึ่งถ้าออกไปอยู่ที่อื่นนั้น แน่นอนจะได้รับผลกระทบอย่างน้อย 1.ชุมชนเดิมต้องล่มสลาย และ 2.พี่น้องที่ย้ายมาจากต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่มีบ้านจะอยู่ ถ้าย้ายไปอยู่ที่อื่นวิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป ทำมาหากินไม่ได้ กระทบต่ออาชีพเดิมและการเรียนหนังสือของบุตร นอกจากนี้หลายพื้นที่ชุมชนได้ทำข้อตกลงปฏิรูปที่ดินในเมืองไปแล้วหลายชุมชน เช่น ชุมชนคลองตัน ตลิ่งชัน บางกอกน้อย เป็นต้น เพื่อสร้างเป็นบ้านมั่นคงและเช่าพื้นที่ของการรถไฟเป็นระยะเวลา 30 ปี ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ใช่สลัมแล้วจะมาไล่รื้อกันไม่ได้
“คิดว่าคุณสมัคร กำลังรื้อฟื้นความคิดเดิมสมัยตอนที่เป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่จะไปไล่รื้อชุมชนที่อยู่ริมคู คลอง ทั้งหมดแต่ก็ทำไม่ได้ ถึงคราวนี้มีอำนาจมากกว่าเดิมคงคิดว่าไม่มีปัญหา แต่บอกไว้เลยเราไม่ยอมแน่ ต้องมีการคัดค้านและเจรจากันให้ถึงที่สุด อย่างไรก็ตามถึงตรงนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดแน่ชัดเรื่องการจัดสรรที่ดินตรงไหนบ้างจึงไม่ทราบได้ว่ามีนัยอะไรหรือไม่ แต่เบื้องต้นบอกไว้เลยว่าพื้นที่เกือบทุกแห่งนั้นมีศักภาพทั้งหมด ซึ่งถ้าไม่ตรวจสอบให้ดีเป็นไปได้ว่าจะเกิดความไม่ชอบมาพากลแน่นอน อาจมีขบวนการฮั้วอะไรกันก็ได้” นางประทิน กล่าว
ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวต่อว่า
ขณะนี้คนสลัมใน กทม.มีอยู่จำนวนไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน หลาย 10 ชุมชน โดยเฉพาะชุมชนคลองเตย เย็นอากาศ ชุมชนเชื้อเพลิง มีชาวสลัมอาศัยอยู่กว่า 100 หลังคาเรือน หลายคนมีกลุ่มอาชีพ ทำมาหากินในแบบฉบับของคนเมือง ไม่มีใครอยากย้ายไปอยู่ที่อื่น