วันนี้ (13 ส.ค.) นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ออกแถลงการณ์ของสภาทนายความ เรื่องศาลยุติธรรมกับนักการเมือง ไว้ในเว็บไซต์สภาทนายความ
http://www.lawyerscouncil.or.th โดยสรุปว่า จากกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ถึงเหตุผลที่ไม่เดินทางมารายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะมีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมนั้น ทางสภาทนายความเห็นว่า แถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย การเปรียบเทียบกระบวนการยุติธรรมของประเทศ โดยที่เป็นผู้มีคดีติดตัว และเป็นคดีอาญาที่เกี่ยวข้องด้วยกับความมั่นคงของประเทศทางด้านเศรษฐกิจและสังคม แสดงให้เห็นถึงความพยายามของนักการเมืองที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและหลบหนีการประกันตัว และยังกล้าบิดเบือนข้อมูลและให้ร้ายระบบการยุติธรรมของประเทศไทย
“ทรัพยากรบุคคลในกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นที่ยอมรับในนานาประเทศตลอดมากเกือบร้อยปี บัดนี้มีบุคคลที่เป็นคนไทยทำให้เกิดความด่างพร้อย อาศัยการที่เคยเป็นผู้นำของประเทศและอดีตหัวหน้าพรรคการเมืองที่ล่มสลายไปแล้ว กลับมากล่าวหาระบบศาลของประเทศไทยในทำนองไม่น่าเชื่อถือ เป็นเรื่องที่น่าอับอายและไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง” แถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์ ระบุอีกว่า สภาทนายความเห็นว่า การดำเนินการทางกฎหมายต่อข้าราชการการเมือง หรือข้าราชการที่คอร์รัปชั่น เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
และการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อทำการสอบสวนและไต่สวนหาข้อมูลให้ทันกับกระบวนการคอร์รัปชั่นที่ซับซ้อน เป็นเรื่องที่นานาอารยประเทศทำกัน ดังนั้นการตั้ง คตส.ไม่ได้ทำให้กระบวนการยุติธรรมเสื่อมเสียไป
“สภาทนายความอยากเห็นนักการเมืองที่มีความกล้าหาญ หากท่านเป็นผู้บริสุทธิ์แสวงหาความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีอยู่แล้วในประเทศไทย ไม่ได้แตกต่างจากต่างประเทศ นักการเมืองที่มีข้อกล่าวหาควรที่จะกลับมาสู้คดี” แถลงการณ์ ระบุ และว่า หน้าที่ของทนายความต้องชี้แนะให้ลูกความปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของความน่าเชื่อถือ ไม่ทำให้กระบวนการยุติธรรมเสื่อมเสีย ต้องไม่ลืมว่า คนไทยกว่าจะได้ระบบศาลจนถึงบัดนี้ ต้องเสียดินแดนไปมากมาย หากมีชาวต่างชาติเป็นผู้ร้ายข้ามแดน และถูกจับได้ในประเทศไทย และอ้างเหตุในทำนองเดียวกัน ก็ทำให้อับอายน่าขายหน้าไปทั่ว ดังนั้น สำหรับบุคคลใดก็ตามที่มีคดีความอยู่ในศาล สภาทนายความขอเสนอแนะให้มีความระมัดระวังในการใช้ถ้อยคำการแถลงการณ์ต่างๆ ด้วยความมีสติ และทำโดยปราศจากอคติที่จะทำให้ประเทศชาติ หรือระบบการพิจารณาของศาลยุติธรรมต้องได้รับการดูถูกดูแคลน