ระยะนี้มีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งขออนุญาตศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเดินทางไปประเทศจีน จะขอ 'ลี้ภัย' ในต่างประเทศ ไม่กลับไทยจึงน่าสนใจว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณจะ 'ลี้ภัย' จริง จะทำได้หรือไม่ อย่างไร?
สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ให้คำนิยามของผู้อพยพ (refugee) ว่า หมายถึงบุคคลที่อยู่นอกประเทศของตนและไม่สามารถกลับไปยังประเทศของตนได้
เนื่องมาจากเกรงว่าจะถูกกลั่นแกล้ง ทั้งในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ ความเห็นทางการเมือง ขณะที่องค์กรของบางภูมิภาค เช่น Organization of African Unity Refugee Convention ปี 1969 และ Cartagena Declaration ในละตินอเมริกา ปี 1984 ได้ขยายคำนิยามของกลุ่มผู้อพยพ โดยรวมถึงบุคคลที่ต้องหลบหนีเพราะสงครามหรือการปะทะกันของพลเรือน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีบุคคลต้องหนีออกจากประเทศของตนและขอหนีภัยในประเทศอื่น บุคคลเหล่านั้นมักจะยื่นเรื่องขอเป็น ผู้ลี้ภัย (asylum)
เพื่อให้ได้รับสิทธิปกป้องตามกฎหมาย รวมถึงปัจจัยความช่วยเหลือต่างๆ ทั้งนี้ ยูเอ็นเอชซีอาร์ให้ความปกป้องและช่วยเหลือไม่เพียงแต่ผู้อพยพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบุคคลพลัดถิ่นและผู้ที่มีความจำเป็น อย่างไรก็ดี การขอลี้ภัยทางการเมืองนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต่างออกไป และไม่ได้มีหลักปฏิบัติระหว่างประเทศอย่างชัดเจน ขึ้นกับการพิจารณาของประเทศผู้รับว่าจะยินยอมให้บุคคลนั้นๆ ลี้ภัยหรือไม่
โดยทั่วไป บุคคลที่ต้องการขอลี้ภัยทางการเมืองจะต้องประสานไปยังประเทศที่ตนเองต้องการขอลี้ภัย โดยแจ้งเหตุผลและความจำเป็น
ซึ่งมักจะเป็นเรื่องความปลอดภัยที่อาจตกเป็นเป้าหมายที่จะถูกปองร้ายหรืออาจมีภัยจากการกระทำของรัฐ ทั้งนี้ ประเทศที่ได้รับการร้องขอจะพิจารณาเหตุผลแวดล้อมต่างๆ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร