'อานันท์'จวกคนตุลาจากหายไป เหลือแต่อุดมการณ์ถูกแช่แข็งอยู่ได้จางหายจากสังคมไทยแล้ว 35 ปี ระบุคนไทยยึดฟอร์มประชาธิปไตยเกินไป ย้ำเสาหลักของไทย คือ นิติรัฐ กับ เสรีภาพของสื่อ ให้ยึดหลัก ตุลาการเพื่อให้สังคมประชาธิปไตยอยู่รอดได้ อัดสื่อขายตัวชี้สื่ออิสระมีไม่ถึง 40 % แม้ไม่พอตรวจสอบแต่ยังมีรากที่กำลังเติบโต
เมื่อเวลา 18.30 น. ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร(ไทย-ญี่ปุ่น) มูลนิธิ 14 ตุลาฯ จัดการปาฐกถาพิเศษวาระ 35 ปี 14 ตุลาวันสืบสานประชาธิปไตย เรื่อง “ทบทวนทิศทางประเทศไทย” โดยนายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ “ทบทวนทิศทางประเทศไทย” ถึงวิกฤติการเมืองไทย และมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิด ท่ามกลางผู้สนใจร่วมรับฟังกว่า 600 คน โดยมีบุคคลน่าสนใจเข้าร่วม เช่น ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ คุณหญิงสุภัตรา มาศดิษฐ์ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอดีตสนช. อาทิ นายสุรพล นิติไกรพจน์ นางเตือนใจ ดีเทศน์ และ นายประสาน มฤคพิทักษ์ อดีตคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ในนภาวะวิกฤติและประชาสัมภันธ์เชิงรุก(วอร์รูมรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) เป็นต้น
นายอานันท์ กล่าวว่า ตอนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตนยังเป็นทูตอยู่ที่องค์การสหประชาชาติ เลยไม่ได้ติดตามสถานการณ์เท่าไหร่นัก เพราะตอนนั้นยังไม่มีเอเอสทีวีให้ดู จากนั้นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บังเอิญตนกลายเป็นหยื่อคนหนึ่งของเหตุการณ์อันน่าบัดสี ส่วนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 นั้น ก็บังเอิญเกิดเหตุที่ตนต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯนั้น เป็นเหตุที่ตนได้เข้าไปสัมผัสคนเดือนตุลาฯมากทีเดียว แม้ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปยุ่งในเรื่องทางการเมือง เป็นแต่เพียงการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์มากกว่า รวมถึงการเดินดูป่าเขาในต่างจังหวัด
“แต่เรื่องที่น่าเสียใจ เสียดายที่ผมจะพูดถึงคนเดือนตุลาฯคือ คนเดือนตุลาฯค่อยๆหายจางไปจากสังคมไทย แต่อย่างไรก็ตามจิตวิญญาณของ 14 ตุลาฯนั้นยังอยู่อย่างแข็งแกร่ง และ 14 ตุลาฯ ถือเป็นการเปลี่ยนฉากทางการเมืองใหม่เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ที่เป็นการเปิดฉากการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่ทว่า 35 ปีผ่านมาอย่างไร อุดมการณ์ก็ยังเป็นอุดมการณ์อยู่ตรงนั้น วันนี้เรายึดติดกับแบบฟอร์มประชาธิปไตยมากเกินไป ทั้งรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง แต่จิตวิญญาณนั้น ยังต้องการความซึมซาบขอบสังคม เพราะวันนี้มีการซึมซาบเพียงแค่บางแขนงเท่านั้น” นายอานันท์กล่าว
นายอานันท์กล่าวว่า ตนอยากบอกว่า เสาหลัก 2 เสา ที่มีความหมายมากในสังคมไทย คือ เสาหลัก นิติรัฐ ไม่มีสังคมประชาธิปไตยใด ที่ไม่ติดยึดและไม่ปฏิบัติตามหลักนิติรัฐ หลักนี้เป็นหลักเดียว ที่ได้รับความยอมรับนับถือ เป็นกลเดียวที่ทำให้เกิดความเสมอภาค สำคัญที่สุด คือ ความเป็นอิสระ และความแน่วแน่ ยึดในหลักการของกระบวนการตุลาการเท่านั้น ที่จะทำให้สังคมประชาธิปไตยนั้นๆอยู่รอดไปได้ หลักที่สองที่มีความหมายมากโดยเฉพาะในสังคมไทย คือ ต้องเริ่มต้นด้วยการเป็นสังคมที่เปิด ประชาชนเข้าถึงข่าวสาร ข้อมูลข้อเท็จจริง สื่อใช้อำนาจอิสระและความรับผิดชอบในการเสนอข่าว และข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย เป็นสังคมที่สื่อไม่ได้ควบคุมโดยรัฐ ไม่ได้เป็นกระบอกเเสียงให้รัฐ เป็นสังคมที่โปร่งใสในการเข้าถึงข่าวสาร สิทธิประชาชนที่จะเข้าถึงข่าวสารที่สมบูรณ์ถูกต้อง จะเป็นกลไกให้ประชาธิปไตยยืนหยัดต่อไปได้ สองเสาหลักนี้ถือเป็นหัวใจ แต่ถามว่าประเทศไทยมีเสาหลักอันนี้หรือไม่ โดยเฉพาะเสาหลักแรก คือ นิติรัฐ กระบวนการตุลาการที่อิสระ และยึดถือความถูกต้อง ซึ่งตนยังให้คำตอบกับคำถามนี้ไม่ได้ แต่หวังว่า จะได้รับคำตอบในอนาคตที่ไม่ไกลเกินไป
นายอานันท์กล่าวว่า หลักที่สอง เรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อ ที่ต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติของรัฐ วันนี้เสรีภาพนั้นพอมีบ้างแล้ว แต่ที่มีบ้างแล้วนั้น ตนต้องยกเครดิตให้บรรดาสื่อทั้งหลาย อาจจะไม่ใช่สื่อทั้งหมด เพราะสื่อก็ขายตัวไปหลายคนแล้ว วันนี้สื่อใต้อาณัติก็มีมาก แต่สื่ออิสระเขายังยืนหยัดสู้ต่อไป ถ้าจะให้คะแนน ประเทศไทยอาจจะมีหลักการนี้ 40 เปอร์เซ็นต์ แม้ไม่พอ แต่อย่างน้อยยังเป็นเสาหลัก ที่มีการวางรากไว้แล้ว ริเริ่มเติบโตบ้างแล้ว
“ที่ทุกท่านมาวันนี้ เราไม่ได้มาเพื่อร่วมอุดมการณ์ทางการเมือง หรือฝักใฝ่พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่มาร่วมกันรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และเหตุการที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น มาด้วยความคารวะ เพื่อเคารพหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ ที่เราหวังว่า เด็กรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้ และเป็นบทเรียน เพื่อให้คนที่เสียชีวิตในเหตถการณ์ ทั้งฝ่ายประชาชน ฝ่ายรัฐบาล ไม่ได้เสียชีวิตไปโดยเปล่าประโยชน์”นายอานันท์กล่าว
'อานันท์' ชี้ม็อบตีกันกรรมของเมืองไทย
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติขณะนี้ว่า คงต้องแก้ที่ต้นเหตุ ต้องมองว่าปัญหาอยู่ที่ไหน การปะทะของประชาชนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่แต่การที่พันธมิตรยืนหยัดชุมนุม มา 2 เดือนกว่า นั้นถือเป็นการแสดงสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งบางครั้งอาจเลยเถิดไปบ้าง แต่หลักการใหญ่เป็นการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ ใช้หลักอหิงสา ไม่มีการทำลายล้างกัน ตราบใดที่ยังให้พันธมิตรชุมนุมแบบนี้การปะทะก็ไม่เกิดขึ้น นอกจากจะมีใครไปหาเรื่องเขา เรื่องนี้คิดว่าต้องติดตามว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ แต่ก็โชคดีแม้สถานการณ์ในกทม.จะไม่ค่อยดีนัก แต่ชุมนุมกันมาก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรร้ายแรงเกิดขึ้น ถือเป็นความดีของทั้งสองฝ่ายแต่ในต่างจังหวัด ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่หลายคนรับไม่ได้ เพราะการชุมนุมเป็นสิทธิของผู้ชุมนุม ถ้าคุณเอาอาวุธ ไม้ มีด ไปไล่ตี และถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถหรือไม่ต้องการปกป้อง หรือส่งเสริมก็ถือว่าผิดกฎหมาย
“ผมคิดว่าปัญหาที่กำลังถกเถียงกันวันนี้ไม่สามารถบรรลุหาคำตอบได้ เพราะมันเลยจุดนั้นไปแล้ว ขณะนี้ข้อเท็จจริงและเหตุผลหมดไป เมื่อมีอารมณ์มาแทรกการพูดกันให้รู้เรื่องคงลำบาก แต่เรื่องการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธที่ฝ่ายหนึ่งอยากทำก็ต้องปล่อยให้เขาทำไป ส่วนอีกฝ่ายต้องระมัดระวังและมีวินัยไม่ให้ไปก่อเหตุร้าย” อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวและว่าในขณะที่แต่ละฝ่ายไม่ฟังเหตุผลกันบ้านเมืองจะไปรอดหรือไม่ คงเป็นกรรมของเมืองไทยหรืออย่างไรตนไม่ก็ทราบ