ผู้สื่อข่าวรายงานจากสิงคโปร์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ว่า หลังการหารือระหว่างคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ซึ่งมีพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพล.อ.เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา ร่วมเป็นประธานไม่ได้ข้อยุติใดๆ ที่ชัดเจนอันจะช่วยยุติการเผชิญหน้าของทหารทั้งสองประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นายฮอร์ นัมฮอง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ได้ส่งจดหมายถึงนายจอร์จ เยียว รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ซึ่งกำลังทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่จัดขึ้นที่สิงคโปร์ระหว่างวันที่ 21-24 กรกฎาคมนี้ ร้องขอให้นายเยียวตั้งกลุ่มรัฐมนตรีจากประเทศอาเซียน ประกอบด้วย รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และลาว เพื่อช่วยหาวิธีแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีต่อวิกฤตการณ์ดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งสองประเทศ
"ไทยระดมกำลังทหาร ปืนใหญ่ และรถถัง ตลอดแนวชายแดน ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนกัมพูชา แต่ยังเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย" นายฮอร์ นัมฮอง ระบุ
จดหมายดังกล่าวถือได้ว่ากัมพูชายอมรับข้อเสนอของอาเซียนก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่าพร้อมจะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการแก้ไขปัญหาระหว่างกัมพูชาและไทยหากได้รับการร้องขอ
อย่างไรก็ดีในส่วนของคณะผู้แทนไทยในสิงคโปร์ หลังทราบเรื่องดังกล่าวได้มีการประชุมประเมินสถานการณ์เมื่อกลางดึกวันที่ 21 กรกฎาคม ทันที ซึ่งนายธานี ทองภักดี รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวภายหลังว่า ไทยยังเห็นว่าน่าจะให้การหารือในกรอบทวิภาคีระหว่างสองประเทศดำเนินต่อไปให้แล้วเสร็จก่อน เพราะในแถลงการณ์ของประธานอาเซียนว่าด้วยเรื่องดังกล่าวก็ระบุชัดเจนว่า อยากให้สองประเทศหาทางออกในระดับทวิภาคีก่อน โดยอาเซียนพร้อมอำนวยความสะดวกหากทั้งสองฝ่ายร้องขอ ทั้งนี้ ผู้แทนไทยจะหารือกับสิงคโปร์ในฐานะประธานอาเซียนในช่วงเที่ยงวันที่ 22 กรกฎาคม และหารือกับรัฐบาลไทยก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในวันเดียวกันนี้
ด้านนายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยให้สัมภาษณ์ถึงการที่ประเทศอาเซียนเสนอตัวพร้อมให้ความช่วยเหลือหากได้รับการร้องขอ ว่า มีการคุยกันว่าถ้าในอาเซียนมีประเทศ ก. และ ข.
มีปัญหาในลักษณะคล้ายกับไทยและกัมพูชาในขณะนี้ ถามว่าประเทศ ก.และ ข. อยากให้อีก 8 ประเทศเข้าไปเกี่ยวพันหรือไม่ "ชัดเจนว่าต้องอยากให้ ก.และ ข. คุยกันก่อน ไม่ใช่คุยวันเดียวจบ แล้วขีดเส้นใต้ให้ทุกคนเข้ามา แต่ต้องปล่อยให้สองประเทศใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาของเขาด้วยความเป็นมิตรและความร่วมมือระหว่างกัน นอกจากสองประเทศบอกว่าแก้ไม่ไหวแล้ว ช่วยเข้ามาหน่อย" นายสหัสกล่าว
ก่อนหน้านี้ นายฮัสซัน วิรายุดา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เสนอให้อาเซียนตั้งกลุ่มผู้ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการเจรจาเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างสองประเทศ
หากการเจรจาคณะกรรมการชายแดนไม่ได้ข้อยุติ "ผมเกรงว่าถ้าเราไม่จัดการกับประเด็นนี้ให้ดี มันอาจะส่งผลกระทบต่อความั่นคงทางการเมืองในภูมิภาค ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่เราต้องจัดการกับประเด็นนี้อย่างจริงจัง" รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าว และว่าอาเซียนรู้สึกไม่สบายใจที่กัมพูชานำเรื่องดังกล่าวแจ้งต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ