บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แฉเอกสาร ลับที่สุด ปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505-2551

สัมภาษณ์พิเศษ : 'บวรศักดิ์' "แฉเอกสาร ลับที่สุด 'ปราสาท พระวิหาร พ.ศ.2505-2551' สู่บรรณพิภพ โดยสำนักพิมพ์มติชน เป็นผู้จัดพิมพ์และ จัดจำหน่าย

สัปดาห์หน้า ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะเปิดโฉมหนังสือเล่มใหม่ เรื่อง "แฉเอกสาร ลับที่สุด ปราสาท พระวิหาร พ.ศ.2505-2551" สู่บรรณพิภพ โดยสำนักพิมพ์มติชน เป็นผู้จัดพิมพ์และ จัดจำหน่าย

"ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ ดร.บวรศักดิ์ ขณะกำลังปั่นต้นฉบับสุดท้าย ก่อนส่งพิมพ์ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า

- ที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้

กรณีปราสาทพระวิหาร เป็นกรณีที่น่าสนใจศึกษาในหลายด้าน ด้านแรกก็คือ ด้านที่เกี่ยวกับกฎหมาย เพราะเป็นคดีเดียวของประเทศไทยที่ขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งสมควรนำมาศึกษากัน และการพิพาทกันในคราวนี้ ในปี 2551 ก็มีประเด็นข้อกฎหมายให้ศึกษามาก

รวมถึงผลของคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศด้วย ซึ่งนักกฎหมายก็ออกมาบอกว่า เรายังสงวนสิทธิ์อยู่ บางคนไปหนักถึงขนาดว่า คำพิพากษาศาลโลกนั้นให้แต่ซากปราสาท แต่ว่าพื้นที่ใต้ปราสาทนั้น ยังเป็นของไทยอยู่ ซึ่งสมควรที่คนไทยจะได้ศึกษาจริงจัง

ด้านที่ 2 คือ บทเรียนที่ได้จากเรื่องนี้ ถ้าเราดูให้ดี เราสามารถวิเคราะห์บทเรียนได้หลายทาง เพราะเรื่องนี้มีมิติมากมาย ตั้งแต่มิติทางศาสนา วัฒนธรรม มิติเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีพรมแดนติดกันเกือบ 800 กิโลเมตร และเป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน

ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บางครั้งก็ดีราบรื่น บางครั้งก็อยู่ในระยะที่มีปัญหา ถ้าเราไม่เข้าใจให้ดีในเรื่องนี้ ก็จะนำไปสู่ปัญหา ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศทั้ง 2 ได้ อย่างที่เราคิดไม่ถึง

อย่างที่เคยเกิดมาแล้ว ถ้าไปดูให้ดี แม้เมื่อศาลโลกพิพากษาแล้ว ก็ปรากฏว่ามีการรบกันตลอดชายแดนหลังปี 2505 จนกระทั่งครั้งหนึ่งกัมพูชาไปฟ้องคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า ประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล

ฉะนั้นมิติเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ... ก็ต้องคิด

มิติด้านที่ 3 คือเรื่อง
ความรักชาติ ชาตินิยม ซึ่งชาตินิยมเป็นสิ่งที่ดี (นะ) เป็นฐานของความเป็นชาติ มันไม่มีอะไรเสียหรอก แต่ถ้าเป็นความคลั่งชาติมันอันตราย เพราะเมื่อมีความคลั่งชาติแล้ว ความมีเหตุมีผลจะไม่มี เมื่อไม่มีเหตุผลก็นำไปสู่การใช้อารมณ์และความรุนแรง

นอกจากนี้บทเรียนอีกด้านหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นบทเรียนที่น่าสนใจมาก ก็คือ การดำเนินการของคนในประเทศไทย บางทีเรานึกว่า เป็นการดำเนินการที่รอบคอบแล้ว แต่เมื่อมาดูอีกทีหนึ่งมันอาจจะทำได้ดีกว่านั้น

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อันหนึ่งก็คือ การรับเขตอำนาจของศาลโลก

คือ ถ้าเราไม่ไปส่งจดหมายในฉบับสุดท้ายก่อนที่จะขึ้นศาล ยืนยันว่าเรายังรับรอง ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งเลิกไปแล้ว เพราะเป็นศาลของสันนิบาตชาติ แต่เราไปส่งคำรับรองในวันที่ 20 พฤษภาคม ปี 2493 ภายหลังจากที่ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศถูกยุบไปในวันที่ 19 เมษายน 2489 มันเป็นความอะไรผมไม่รู้ แต่มันทำให้เราต้องยอมรับศาลโลก หรือแม้แต่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ถือปฏิบัติว่าจะต้องเอาเข้า ครม. เป็นวาระจรตลอด

มันทำให้คณะรัฐมนตรีอาจจะไม่ได้ดูเรื่องอย่างละเอียดลึกซึ้ง มีเวลาที่คิดเพียงพอ ฉะนั้นบทเรียนพวกนี้มันจึงเป็นบทเรียนนที่อาจจะต้องทบทวนกัน ว่าถ้าเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นในอนาคต จะเป็นยังไง

นั่นจึงเป็นที่มาของแรงดลใจว่า ควรที่จะมีเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและทำความเข้าใจ ไม่ควร ที่จะปล่อยให้พูดกันเฉยๆ เพราะถ้าพูดกันเฉยๆ แล้วไม่มีเอกสารหลักฐาน ที่เป็นเอกสารชั้นต้น มานั่งดูกันจริงๆ จุดอ่อน มันมีเยอะมาก

ฉะนั้นจึงเป็นที่มาของการพยายามรวบรวมเอกสารทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น คำฟ้อง ซึ่งตอนหลังก็ตัดสินใจไม่เอาลง เพราะว่ามันหนามาก ไปจนกระทั่ง คำพิพากษาของศาลและความเห็นแย้ง และมติคณะรัฐมนตรีทั้งหมด ตั้งแต่ ปี 2501-จบคดี และรวบรวมอีกครั้งหนึ่ง ก็คือ เรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวกับการขึ้น ทะเบียน ปราสาทพระวิหารที่เริ่มขึ้นใน ปี 2548

ซึ่งจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2548-2551 จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย มันจำเป็นเหลือเกินที่ต้องรวบรวมไว้ทั้งหมด เพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง ไม่ใช่ฟังมา แล้วไม่มีเอกสารหลักฐาน หรือใช้ความรู้สึก ไม่ได้ใช้ความรู้ การศึกษา

ผมเป็นห่วงว่า เราทำอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีความรู้จริง ไม่มีการศึกษาที่แท้จริง มันจะนำไปสู่บทเรียนเหมือนคราวที่แล้ว ที่เราแพ้ในคดีพระวิหาร

-
อาจารย์มองว่า ชาตินิยมอาจเป็นตัวท้าทายประชานิยม

ผมจะเขียนในความเห็นผมว่า ประเด็นชาตินิยมที่ผมบอกว่าเป็นเรื่องดี แต่เมื่อไหร่ที่ถูกปลุกจนกระทั่งกลายเป็นความคลั่งชาติ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองบางประการ ผลกระทบมันจะแรง เราทำอะไรก็แล้วแต่ภายในประเทศก็อยู่ในประเทศเรา จะเปลี่ยนรัฐบาลยังไงก็ตาม

แต่เมื่อไรที่ก้าวออกไปกระทำการอะไรก็ตามที่ไปกระทบความเชื่อมั่นของประเทศในวงการระหว่างประเทศ ผลกระทบมันจะแรงถึงความน่าเชื่อถือของประเทศไทยของรัฐบาลไทย และอะไรอีกมากมายที่จะตามมา ฉะนั้นถึงบอกว่า ลองอ่านดูล่ะกัน มันก็เป็นการเมืองประเภทหนึ่ง

- แฉเอกสารลับที่สุดฯ จะวางแผงเมื่อไร

ผมเข้าใจว่าน่าจะราววันที่ 20 กรกฎาคม กว่าๆ

- ที่บอกว่า เอกสารลับที่ถูกสั่งเก็บจากคณะรัฐมนตรี หมายความว่าอย่างไร

เอกสารหลายชิ้นที่สรุปมาลง มันเป็นเอกสารซึ่งเขาเก็บจากที่ประชุม ครม. ซึ่งบางทีสาระสำคัญของเอกสารนั้นก็แสดงให้เห็นเช่นกัน และถ้าอ่านให้ดี คุณจะพบอะไรบางอย่างตรงกันข้ามกับที่เรารู้สึก

ยกตัวอย่าง เช่น เราฟังข้างนอกว่ากระทรวงการต่างประเทศเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าคุณไปอ่านเอกสารจริงๆ คุณอาจจะรู้สึกอีกแบบว่ากระทรวงการ ต่างประเทศ เขาก็พยายามทำในทรรศนะของเขาโดยเฉพาะข้าราชการ เขาทำอย่าง ดีที่สุดแล้ว

ส่วนหนึ่ง ผมเชื่อว่าข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ เขาได้ทำหน้าที่อย่างที่เขาควรจะได้ทำ แต่ว่าอาจจะเป็นเพราะว่ามันอาจจะเป็นที่เรื่องการเมือง อย่างนี้มันต้องพูดกันด้วยเอกสาร พูดกันด้วยวาจาไม่ได้

ฉะนั้นมติ ครม.ก็จะดูตั้งแต่รัฐบาลทักษิณถึงรัฐบาลสุรยุทธ์และมาจนถึงรัฐบาลสมัคร ซึ่งเอกสารก็จะเป็นสิ่งที่แสดงในตัวของมันเอง

ผมคิดว่า หนังสือเล่มนี้คนไทยทุกคนควรอ่าน ถ้าอยากรู้เรื่องนี้และไม่อยาก ตกเป็นคนซึ่งเชื่ออะไรง่ายๆ อ่านด้วยตาคุณเองดีกว่า

เป็นต้นว่า จริงรึเปล่า ประเทศไทยยังมีสิทธิในพื้นที่ใต้ปราสาทพระวิหาร ศาลโลกพิพากษาให้เฉพาะซากปราสาทแก่กัมพูชา จริงหรือเปล่า ซึ่งไม่มีใครตอบได้ จนกว่าคุณจะอ่านคำพิพากษาของศาลโลก

และถ้าคุณอยากอ่านคำพิพากษาของศาลโลก ตั้งแต่บรรทัดแรกๆ จนถึงบรรทัดสุดท้าย คุณก็จะรู้ว่าความจริงเป็นยังไง โดยคุณไม่ต้องไปฟังใครพูดว่าน่าเชื่อหรือไม่น่าเชื่อ เอกสารและคำพิพากษาก็จะบอกเองว่า มันคืออะไร

ที่มา:นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4019 (3219)หน้า 32


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์