ชวน ซัดบ้านเมืองป่วนเพราะผู้บริหารขาดหลักนิติธรรม องคมนตรี เตือนนักกฎหมายอย่าอคติ

'องคมนตรี' เตือนนักกฎหมายอย่ามีอคติในการบังคับใช้ กม. หากลุแก่อำนาจจะสร้างผลเสียร้ายแรง ระบุฝ่ายนิติบัญญัติกำหนดโทษตัวเองแผ่วเบา เหมือนเล่นขายของ 'ชวน' ซัดปัญหาบ้านเมืองเกิดปัญหาเพราะผู้บริหารขาดหลักนิติธรรม 'จรัญ' ระบุคน 3 ฝ่ายที่อยู่ในอำนาจอธิปไตยยังทุศีลมัวเมาในอบายมุข

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี บรรยายหัวข้อ ''นักกฎหมายกับอคติ'' ที่สำนักอบรมกฎหมายของเนติบัณฑิตยสภา จัดการอบรมหลักสูตรภาคจริยธรรมให้กับเนติบัณฑิต รุ่นที่ 60 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ตอนหนึ่งว่า สาเหตุของความผิดพลาดของนักกฎหมายคือ อคติของนักกฎหมายเอง จึงได้มีการเตือนใจนักกฎหมายให้เอาใจใส่และระมัดระวังไม่ให้อคติก่อให้เกิดปัญหาในการประกอบวิชาชีพ อคติคือความลำเอียง ความลำเอียงเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เกิดความไขว้เขวและมองสถานการณ์ผิดเพี้ยนไป เปรียบเสมือนการมองผ่านแว่นตาหลากสีแล้วแต่ตนเองจะมี มนุษย์มีธรรมชาติจะยึดถือเอาความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ ทำให้เลือกรับฟัง เชื่อในสิ่งที่ตนเองชอบ ดังนั้น การจะทำสิ่งใดก็แล้วแต่จะต้องคิดว่ามีอคติหรือไม่

''เรื่องที่มักจะเกิดขึ้นกับเราเสมอคือ ความคิดที่มักคิดว่า เรื่องนี้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ในความเป็นจริงทำให้เสียโอกาส เมื่อเห็นกฎหมายอย่าถือเอาความจำของตัวเองเป็นเกณฑ์ ให้ตรวจสอบให้ดี แม้แต่การอ้างกฎหมายต่อจากผู้อื่นโดยไม่ตรวจสอบเสียก่อนว่ากฎหมายมีการแก้ไขไปแล้ว นักกฎหมายต้องตรวจสอบตลอดเวลา ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นคนเจ้าปัญหา สงสัยทุกเรื่องที่เราพิจารณา'' นายธานินทร์กล่าว

นายธานินทร์กล่าวอีกว่า การช่วยของทนายความต้องช่วยอยู่ในหลักศีลธรรมอยู่ในกรอบของกฏหมาย ไม่ใช่ช่วยไปถึงการทำลายพยานหลักฐาน หรือสร้างพยานหลักฐานเท็จขึ้นมา ทนายความยังต้องถือว่าตนเป็นผู้ช่วยศาลในการสร้างความถูกต้องชอบธรรม ไม่ใช่คิดแต่เพียงว่าต้องช่วยจำเลยให้พ้นจากความผิดเท่านั้น บางเรื่องทนายความเอาแต่ใจตัวเอง ถือว่าต้องชนะให้ได้ สุดท้ายจึงเกิดความเสียหายต่อลูกความ โดยเฉพาะการมีอคติที่จะเอาชนะให้ได้ เรื่องใดที่จะรอมชอมได้ขอให้รอมชอม อย่าคิดแต่ว่าต้องให้มีคดีความ ทนายต้องช่วยเหลือประชาชนจริงๆ โดยไม่คิดถึงประโยชน์ที่จะได้จากคดีความเท่านั้น
นายธานินทร์กล่าวว่า ความอคติยังมีอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติด้วย กรณีการกำหนดบทโทษที่รุนแรงเกินไป โดยไม่พิจารณาว่าความยุติธรรมไม่ใช่อันเดียวกันหมด แต่ควรให้ศาลมีโอกาสใช้ดุลพินิจ โดยกำหนดโทษตามความเหมาะสม โทษที่กำหนดควรได้สัดส่วนกับความผิด ฝ่ายนิติบัญญัติกำหนดบทลงโทษตัวเองไว้เพียงแผ่วเบามาก เพียงตำหนิ ตักเตือน หรือประณามเท่านั้น เพราะเกรงว่าตนอาจมีโอกาสรับโทษจากกฎหมายของตัวเอง การระบุโทษไว้อย่างแผ่วเบาเช่นนี้ จึงเหมือนกับการเล่นขายของและเป็นเสือกระดาษ หากฝ่ายนิติบัญญัติยังไม่ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม อย่างไรก็ดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในมาตรา 179 (2) ที่กำหนดให้ประมวลจริยธรรมโดยให้มีกลไกในการกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสมมากขึ้น

''อคติของฝ่ายบริหาร ถือเป็นอันตรายอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยมีพระราชดำรัสใจความว่า หากนำกฎหมายไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือเจตนารมณ์ โดยการพลิกแพลงบิดพลิ้วให้ผันผวนไปในทางที่ผิด จะเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง หากผู้บริหารไม่ว่าระดับใดลุแก่อำนาจ ทำอะไรอยู่เหนือกฎหมาย ภัยที่เกิดจากเจ้าพนักงานลุแก่อำนาจ เช่น การขู่ฆ่า การฆ่าตัดตอน การวิสามัญฆาตกรรมโดยอ้างสิ่งที่ชอบ หรือแม้แต่การยัดเยียดข้อกล่าวหา การสร้างพยานหลักฐานเท็จ เป็นความร้ายแรงอย่างที่สุด จะสร้างความเสียหายเดือดร้อนต่อประชาชน'' องคมนตรีกล่าว และว่า เจ้าพนักงานทั้งหลายไม่ควรลุกแก่อำนาจ แต่พึงระลึกเสมอว่า อำนาจที่มีอยู่เป็นอำนาจตามกฎหมาย ที่มาพร้อมกับหน้าที่ ที่ต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมา

ด้านนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ บรรยายในหัวข้อ ''บทบาทของนักกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย'' ว่าวิกฤตในบ้านเมืองที่เกิดขึ้นจากการขาดการปกครองด้วยหลักนิติธรรม บทบาทของนักกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยคือ การยึดมั่นในหลักนิติธรรม เราไม่สามารถทำให้คนทุกคนร่ำรวยเหมือนกันหมดทุกคน แต่ทำให้คนทุกคนอยู่ภายใต้หลักกฎหมายเดียวกันทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกันได้ โดยหลักการปกครองที่ยุติธรรม หรือฝ่ายเลือกตั้งมาจากความยุติธรรม เสียงข้างมากย่อมได้รับความชอบธรรม

''การปกครองด้วยหลักนิติธรรมจะช่วยลดความรุนแรงและการใช้กฎหมู่ในการแก้ไขปัญหา เมื่อทุกฝ่ายอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติหรือการใช้อภิสิทธิ์จะน้อยลง หลักนิติธรรมยังมีส่วนสร้างระบบการบริหารบ้านเมืองที่ดี วิกฤตที่สุดในโลก ไม่ใช่ความผิดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 วิกฤตเกิดขึ้นจากผู้บริหารที่ไม่ได้ยึดหลักนิติธรรม หลักนิติธรรมไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ผู้บริหารประเทศต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรมอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับการปฏิบัติ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จึงต้องเพิ่มวรรคสองของมาตรา 3 ที่ระบุว่าฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ ต้องบริหารโดยใช้หลักนิติธรรม'' นายชวนกล่าว

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บรรยายในหัวข้อ ''เนติบัณฑิตกับทางชีวิตที่ปลอดภัย'' ว่า วิชาชีพกฎหมายเป็นเสาหลักต้นหนึ่งที่ค้ำสังคมไทยไว้ หากขาดเสาต้นนี้ สังคมจะเป็นอนาธิปไตย เรายึดมั่นในประชาธิปไตย แต่ต้องไม่ใช่ได้มาด้วยการทุจริตซื้อเสียง จะต้องเป็นประชาธิปไตยจากคนที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาธิปไตยจึงจะอยู่ในกำมือประชาชน

''ไม่ใช่ของเจ้าของเงิน ที่หว่านเศษเงินไปซื้อมาจากผู้ที่ขายขาดอำนาจประชาธิปไตย ในด้านเศรษฐกิจเราจะยืนยันจะใช้เศรษฐกิจเสรีนิยม ไม่ใช่สังคมนิยมของคอมมิวนิสต์'' นายจรัญกล่าว และว่า ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับทุนนิยมสุดโต่ง อย่างที่ถูกนักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าทุนนิยมสามานย์ ที่แยกแยะทุนสร้างสรรค์ออกจากทุนสามานย์ที่เอาแต่ตักตวงกอบโกย ถ้ายึดมั่นในจริยธรรมและศีลธรรม ก็จะแปรสภาพจากนักกฎหมาย เป็นนักยุติธรรม ภารกิจจะขับเคลื่อนไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือเพื่อพรรคใดพรรคหนึ่ง

''ขณะนี้คน 3 ฝ่ายที่อยู่ในอำนาจอธิปไตย ยังทุศีลมัวเมาในอบายมุข ตัวเองเป็นผีพนันไม่พอ ยังจะเปิดบ่อนเสรี ชักชวนคนไทยไปเป็นผีพนันด้วย เพียงเพราะเห็นแก่เม็ดเงิน คนที่เป็นนักเลงเหล้า ก็จะมองเห็นแต่ประโยชน์ที่ได้จากกิจการและภาษีนำเข้าเหล้า และค่าโฆษณาจากสุรา แต่มองไม่เห็นหายนะที่เกิดขึ้นกับประชาชน''  นายจรัญกล่าว และว่า คนพวกนี้จะห้ามลูกหลานไม่ให้ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ แต่ส่งเสริมประชาชนให้ดื่มสุราสูบบุหรี่ เขาไม่รักประชาชนเหมือนลูกหลานตัวเอง ผีตัวที่ 3 เป็นผีจอมเจ้าชู้ ซึ่งอันตรายมาก ทั้งแก่ตัวเองและบุคคลอันเป็นที่รัก ผีตัวที่ 4 คือ พวกอุ้มชูมิจฉาชีพ โดยมิจฉาชีพไม่ได้จำกัดอยู่ที่คนชั้นต่ำ แต่อาจเป็นรัฐมนตรี ส.ส. อธิบดี ทนายความ ผู้พิพากษา ผีตัวนี้ไม่เลือกอาชีพ แต่จะฝังอยู่ในกมลสันดาน ใครพบเจอต้องแยกตัวออกมาให้ห่าง


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์