หนึ่งในแกนนำแถลงคือ นายมาดี เพงคาน เป็นอดีตกลุ่มขบวนการ ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหว ที่สำคัญเป็น 1 ใน 132 คน ไทยที่หลบหนีเข้าไปอยู่ในปมาเลเซีย จนถึงวันนี้..??
ถูกสังคมตั้งคำถามว่า "สองแกนนำ" ที่นั่งแถลงอยู่ในจอทีวีนั้น เป็น "ของแท้" มีอำนาจต่อรองกลุ่มปฏิบัติการในพื้นที่ได้จริงหรือไม่..??
ยิ่งไปกว่านั้น ยังถูกตั้งคำถามในเชิงยุทธศาสตร์ด้วยว่า "เซอร์ไพรส์" ดังกล่าว อาจจะกลลวง ที่ต้องการ "ยกระดับ" ความมีอยู่จริงของกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ
เพื่อใช้เป็นข้ออ้างนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกลุ่มประเทศมุสลิมโลก (โอไอซี) ที่มีประเทศมุสลิมกว่า 57 ประเทศเป็นสมาชิก
ซึ่งองค์กรดังกล่าวมีบทบาทหน้าที่เช่นเดียวกับสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่คอยพิทักษ์รักษาประโยชน์ให้กับกลุ่มประเทศมุสลิม หรือคอยปกป้องชาวมุสลิมที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ
หากเป็นเช่นนั้นจริง โอไอซีจะเข้าไปดูแล ซึ่งผลงานสำคัญที่เป็นดอกผลของโอไอซี คือ ประเทศติมอร์ตะวันออก ที่ได้รับอิสรภาพจากอินโดนีเซีย และจังหวัดอาเจะห์ที่เป็นเขตปกครองพิเศษของอินโดนีเซีย ในเวลานี้
จึงเป็นคำถามที่ พล.อ.เชษฐา ต้องชี้แจงรายละเอียด "ข้อเท็จจริง" มากกว่าที่เป็นอยู่
เพราะการออกมาประกาศ "ยุติปฏิบัติการณ์" ครั้งนี้ ใกล้กับการประชุมใหญ่โอไอซี ที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2551 นี้
ย้อนไปในสมัยที่ พล.อ.เชษฐา เป็น รมว.กลาโหม นายทหารคู่ใจที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในทุกภารกิจ คือ "บิ๊กแปะ" พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร ซึ่งเป็นนายทหารที่ พล.อ.เชษฐา ไว้วางใจ และเคยเป็นคนที่ไปเจรจากับมาเลเซียเพื่อขอตัวแกนนำก่อเหตุใต้ จำนวน 31 คน ที่หลบหนีอยู่ในมาเลเซีย เพื่อกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย แต่ไม่เป็นผล
ตรงนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ พล.อ.เชษฐา รู้สึก "เสียหน้า-ผิดหวัง" นำไปสู่การสานฝันทำให้ภาคใต้สงบอย่างจริงจัง เป็นที่มาของการนำผู้ที่ถูกอ้างเป็น "หัวหน้ากลุ่ม" มาแถลงยุติบทบาทวันนี้
การสร้างปรากฏการณ์ครั้งนี้ ผู้ที่เป็นทีมงาน พล.อ.เชษฐา ประกอบด้วย พล.ท.นิพัทธ์, พล.ต.จำลอง คุณสงค์ รองผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) เป็นตัวเชื่อมกลุ่มขบวนการต่างๆ
ความพยายามของ พล.อ.เชษฐา และทีมงานมีมาอย่างต่อเนื่อง หากจำได้ ช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เคยมีการเชิญ มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ให้เป็นตัวกลางประสาน "เจรจา" กับกลุ่มแกนนำที่เคยก่อเหตุป่วนใต้
โดยการชงข้อมูลจาก พล.ท.นิพัทธ์
แต่ครั้งนั้นมีเสียงคัดค้านจาก "ฝ่ายทหาร" ว่าคนที่จะมาพูดกับไทยไม่ใช่ตัวจริง เป็นอดีตแกนนำเคยปฏิบัติการ และหวั่นว่าหากเจรจาจะไปยกระดับกลุ่มต่างๆ ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ภายหลังแนวคิดเจรจา ทำให้กลุ่มขบวนการพันธมิตรของ "เบอร์ซาตู" เปิดประชุมที่แฟลตศรปาฮัง ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมี ดร.ฟาเดร์ เจ๊ะมาน ประธานเบอร์ซาตู เป็นประธาน
ผู้เข้าร่วมมีทั้งกลุ่มเบอร์ซาตู, ขบวนการพูโล, กลุ่มบีเอ็นพีเอ, ขบวนการมูจาฮิดีนปัตตานี, กลุ่มบีอาร์เอ็นอูลามะ, กลุ่มบีอาร์เอ็นโคออดิเนต, ขบวนการบีอาร์เอ็นครองเกรส
ที่ประชุมเสนอ 3 แนวทางในการขอประชามติคือ 1.ให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้รัฐบาลไทย 2.รวมสามจังหวัดชายแดนผนวกกับประเทศมาเลเซีย 3.แบ่งแยกสามจังหวัดเป็นเขตปกครองตนเอง โดยจะถือเป็นมติในการเจรจากับ "คนกลาง" ของรัฐบาลไทย
หากมองในเชิง "ยุทธวิธี" เป็นไปได้ยากที่ "กลุ่มแกนนำ" จะยุติบทบาทในภาคใต้
และยิ่งพบว่า หนึ่งในแกนนำแถลงคือ นายมาดี เพงคาน เป็นอดีตกลุ่มขบวนการ ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหว ที่สำคัญเป็น 1 ใน 132 คน ไทยที่หลบหนีเข้าไปอยู่ในปมาเลเซีย จนถึงวันนี้..??
ข้อมูลดังกล่าวได้รับการการันตีจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ที่ระบุว่า ผู้กระทำผิดต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย และกระบวนการเจรจาไม่ได้การยอมรับจากทหารและรัฐบาล และนายมาดี เพงคาน ผู้แถลงเป็นภาษายาวี เป็นแกนนำของขบวนการที่เคลื่อนไหวระหว่างปี 2527-2530 ซึ่งได้ยุติบทบาทและความเคลื่อนไปแล้วตั้งแต่ปี 2530 ภายหลังไม่ประสบความสำเร็จในความพยายามฟื้นขบวนการและรวบรวมเครือข่ายของทุกกลุ่ม"
นั่นหมายความว่า แกนนำที่ พล.อ.เชษฐา นำมาเปิดโฉม เป็นแค่กลุ่มอำนาจเก่า ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ ในพื้นที่
จึงเกิดคำถามว่า พล.อ.เชษฐา "เสียรู้" หรือ "สร้างค่า" เพื่อมุ่งหวังทางการเมืองอย่างที่หลายคนตั้งข้อสงสัยหรือไม่..??
ที่มา หน้า 11 หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551