พปช.ยันรื้อรธน.มาตรา237-309
ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พปช. กล่าวว่า ขณะนี้ ส.ส.พรรค พปช.ส่วนใหญ่เห็นว่าควรจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ได้แล้ว อาจจะเริ่มหารือกันถึงแนวทางการแก้ไขตั้งแต่เริ่มเปิดสภาผู้แทนราษฎรสมัยนิติบัญญัติ ในวันที่ 1 สิงหาคม เพราะขณะนี้นายกฯก็เห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาและต้องแก้ไข จากการหารือร่วมกับ ส.ส. เห็นว่าที่ต้องแก้ไขแน่นอนคือมาตรา 237 ที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมือง และมาตรา 309 ที่รับรองการกระทำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และองค์กรที่มาจาก คมช.
''แม้ในที่ประชุมพรรคนายสมัครจะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข 2 มาตราดังกล่าว แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว หาก ส.ส.ต้องการแก้ไข นายสมัครก็ต้องยอม เพราะขณะนี้เราเหมือนถูกทำให้ตกหลุมโดยฝ่ายตรงข้าม จะมามัวงอมืองอเท้าอีกไม่ได้แล้ว แม้การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นมาบ้าง ก็ต้องดำเนินการแล้ว'' นายสุทินกล่าวเล็งแก้อำนาจตุลาการล้ำเส้นเกิน
นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคพลังประชาชน ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการศึกษาโครงสร้างรัฐธรรมนูญ 2550 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ของสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้ศึกษาโครงสร้างรัฐธรรมนูญ 2550 และเตรียมจะเสนอประเด็นที่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการฯ เพื่อสรุปเสนอให้คณะกรรมาธิการฯในเดือนสิงหาคม ก่อนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายพีรพันธุ์กล่าวว่า ข้อเสนอที่ตนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการฯนั้นเป็นโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาในความสัมพันธ์ของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ และความสัมพันธ์ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งพบว่ารัฐธรรมนูญ 2550 เขียนไว้ให้ฝ่ายตุลาการล้ำเข้ามาในการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร แบบที่เรียกว่ากินแดนกันจนทำให้ฝ่ายบริหารไปจนถึงฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งคือรัฐสภาถูกบีบเข้ามุม จึงจำเป็นจะต้องจัดวางโครงสร้างรัฐธรรมนูญ 2550 ใหม่โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เพียงเริ่มต้นการใช้ก็เห็นความปั่นป่วนวุ่นวาย
'สมัคร' รับหน้าเสื่อคุย 5 พรรคร่วม
นายพีรพันธุ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ให้อำนาจองค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กร จนเรียกได้ว่าเป็นซุปเปอร์องค์กร ส่งผลให้ระบบมีปัญหาจึงจำเป็นจะต้องแก้ไข รวมไปถึงบทเฉพาะกาลหลายๆ บท เขียนไว้จนเป็นเหมือนบทถาวร ก็ต้องดำเนินการแก้ไขเช่นกัน
''วันนี้นายสมัครเห็นด้วยกับ ส.ส.พรรคพลังประชาชน แล้วว่าจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งนายสมัครได้กล่าวกับ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ระหว่างการประชุมพรรคนัดพิเศษว่าก่อนจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นผู้ไปเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรคด้วยตัวเอง เพื่อชี้แจงว่าเพราะอะไรพรรคพลังประชาชนจึงจำเป็นจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ'' นายพีรพันธุ์กล่าว