คำต่อคำ นายนพดล ปัทมะ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวชี้แจงกรณีแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร และการลาออกจากตำแหน่ง
 

"ปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข คือ การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ของกัมพูชา ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาแก้ไขยังไม่สำเร็จ และตกทอดมายังรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งต้องเร่งแก้ไข ให้ได้ เพราะคำขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ของกัมพูชาที่ยื่นในปี 2549 นั้น รวมผนวกกับพื้นที่ๆ ไทยอ้างอธิปไตย  หรือที่เรียกว่า พื้นที่ทับซ้อน


ถ้าหากมีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารที่ผ่านมารวมเอาพื้นที่ทับซ้อนเข้าไปด้วย  ย่อมสุ่มเสี่ยงที่ไทยจะเสียอธิปไตย ในพื้นที่ดังกล่าว

เพราะกระทรวงการต่างประเทศได้ประเมินแล้วว่าคณะกรรมการมรดกโลก คงไม่ยอมให้เลื่อนการพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 32 ช่วงวันที่ 2-10 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ ประเทศแคนาดา เพราะที่ประชุมในการประชุมครั้งที่ 31 ที่นิวซีแลนด์มีมติว่าเห็นชอบในหลักการว่าปราสาทพระวิหาร ควรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รวทมทั้งไทยและกัมพูชา ได้เห็นพ้องกันว่า กัมพูชาได้ขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ในสมัยประชุมครั้งที่ 32
 

ท้ายที่สุดการประเมินของกระทรวงการต่างประเทศ ถูกต้องในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ผ่านมา แม้ว่า ไทยจะพยายามขอเลื่อนออกไปก็ตาม แต่ก็มีมติให้ขึ้นทะเบียนจนได้


ผมกล่าว ย้ำอีกครั้งว่า การดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศนั้น


1.ไ ด้ดำเนินการอย่างแข็งขัน ในการปกป้องไม่ให้ไทยเสียดินแดน และอธิปไตย เพราะได้พยายามสกัดกั้นไม่ให้กัมพูชา ลุกล้ำและรวมเอาพื้นที่ทับซ้อนเข้าไปขึ้นทะเบียนด้วย
2. ได้ดำเนินการอย่างโปร่งใสตามขั้นตอน เพราะได้มีการหารือและได้ร่วมเจรจากับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ กรมเอเชียตะวันออก กรมสนธิสัญญาและ  กำหมาย และกรมแผนที่ทหาร

3. การดำเนินการมิได้เร่งรีบ แต่เป็นไปตามขั้นตอน หลังจากที่มีการหารือ กับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ก็ได้นำเรื่องเข้าสู่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีรัฐมนตรีหลายกระทรวงและมี ผบ.หลายเหล่าทัพ และเลขาธิการสภาการความมั่นคงแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมด้วย


ต่อมาได้นำเรื่องเข้าเสนอต่อการประชุมคณะรัฐมนตรี และเมื่อครม. ได้อนุมัติ ตนจึงได้ไปลงนามในนามของรัฐบาล
 

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า การดำเนินการมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีการแลกผลประโยชน์กันนั้น เป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะจะเห็นได้ว่า ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่แคนาดา แม้ทางกระทรวงการต่างประเทศจะคัดค้านอย่างหนัก รวมถึงประธานคณะกรรมการว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก  คือนายปองพล อดิเรกสาร กัมพูชาก็สามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารได้ เพราะคุณสมบัติตัวปราสาทของกัมพูชาเอง ไม่ใช่เพราะการสนับสนุนของไทย หรือไม่ใช่เพราะคำแถลงการณ์ร่วม เนื่องจากไทย ขอให้ไม่มีการนำแถลงการณ์ร่วมเข้าที่ประชุม
 

นอกจากนี้ ผมยังได้แถลงปฏิเสธเอกสารและแผนผังของกัมพูชา ประท้วงไม่ให้คณะกรรมการมรดกโลก นำแถลงการณ์มาร่วมมาประกอบการพิจารณา  

และยังยืนยันการสงวนสิทธิ์ ของไทย ที่ได้ระบุในหนังสือของพ.อ. ถนัด คอร์มันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ส่งถึงเลขาธิการสหประชาชาติ  ในปี 2505 อีกด้วย
สิ่งที่เพื่อนข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และกรมแผนที่ทหาร ตลอดจนสภาความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี ได้ดำเนินการด้วยความสุจริต โปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน แต่ในทางตรงกันข้าม เป็นการปกป้องดินแดนและอธิปไตยของทย เราได้ทำดีที่สุดแล้ว แต่สิ่งที่น่าเสียดายและน่าเสียใจคือ มีการนำการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร มาปลุกเร้ากระแสชาตินิยม จนเกินสมควร และทำเป็นประเด็นเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง และความถูกต้อง


ผมอยากจะเห็นคนไทยรักกัน และรักเพื่อนบ้าน เพราะความมั่งคั่ง มั่นคงของเพื่อนบ้าน คือความมั่งคั่ง มั่นคงของไทย ประเทศไทยยิ่งใหญ่พอที่จะชื่อนชมความสำเร็จของประเทศเพื่อนบ้านได้ ด้วยความเต็มใจ


ในส่วนที่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งออกมาในวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา ขอเรียนว่า เคารพในคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า คำแถลงการณ์ร่วมกัมพูชา ลงวันที่ 18 มิ.ย. 2551 เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นกรณีศึกษา ที่นักนิติศาสตร์ นักกฎหมาย และผู้สนใจ จะสนใจใช้ศึกษา และพิจารณาต่อไปอย่างกว้างขวาง
 

กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการตามความเห็นของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศมาโดยตลอด และไม่มีใครจงใจกระทำการผิดกฎหมาย


ในเมื่อปราสาทพระวิหารถูกนำมาเป็นประเด็นทางการเมืองทั้งในสภา และนอกสภา และมีกลุ่มบุคคลไม่หวังดีนำประเด็นดังกล่าวไปรังแก ระรานพี่สาวของผมที่จ.นครราชสีมา ผู้หญิงตัวเล็กๆ ไม่รู้อิโหน่ อิเหน่ ไม่มีทางสู้ จนชาวบ้านต้องออกมาช่วย มีการนำประเด็นนี้มาปลุกเร้าความเกลียดชังและแตกร้าวของคนในชาติ ระหว่างไทยกับกัมพูชา
 

ผมมั่นใจครับ เมื่อควันและฝุ่นจางลง ความจริงจะปรากฎขึ้น ชัดเจน เมื่อเหตุผลเข้ามาแทนอารมณ์ เวลาจะตัดสินสิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศและผมได้กระทำไป เพราะพวกเราได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อปกป้องดินแดนและประโยชน์ของไทย


พี่น้องชาวไทยครับ ผมไม่ได้ขายชาติครับ ผมรักชาติเท่ากับคนไทยทุกคน  ขอยืนยันอีกครั้งว่า กระผมไม่ได้ทำให้ประเทศเสียหาย ผมอยากให้รัฐบาลเอาเวลาไปแก้ไขปัญหาบ้านเมือง และความเดือดร้อนของประชาชน แทนที่จะเสียเวลาแก้ไขปัญหาการเมือง


ทั้งนี้ เพื่อให้ความทุกข์ยากของประชาชนได้รับการแก้ไข ผมอยากเห็นความปรองดองสมานฉันทน์ ของทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยที่เป็นที่รักของเรา ได้เดินหน้าต่อไป เพราะว่าบ้านเมือวงของเรา มีความสำคัญกว่าตำแหน่งทางการเมืองของผม
 

ผมขอย้ำว่า แม้ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ผมขอแสดงสปริต และความรับผิดชอบโดยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค. 2551 เป็นต้นไป


ผมขอกราบขอบพระคุณ ท่านนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช เพื่อข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ทหารในกรมแผนที่ทหาร ท่าน ผบ.ทบ. ในความเป็นมืออาชีพ และความกล้าหาญที่จะยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง

แม้ในวันที่พายุทางอารมณ์พัดรุนแรง และกระแสทางการเมืองที่เชี่ยวกราก ขอให้ทุกท่านเป็นหลักให้บ้านเมืองต่อไป
ผมขอขอบคุณพี่น้อง เพื่อน ประชาชน ที่แสดงความเห็นใจผมในยามที่มรสุมทางการเมืองพัดกระหน่ำ  มีบุคคลมากมายที่รักผม และให้กำลังใจผม โดยทางโทรศัพท์ และส่งเอสเอ็มเอส...."


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์