“อภิสิทธิ์”แฉหลักฐานมัด“นพดล”บิดเบือน กรณีปราสาทพระวิหาร ไม่ชอบมาพากลพบพิรุธหลายข้อ ผูกมัดประเทศ มีท่าทีไม่ชัดเจนว่าคัดค้านจริงจังแค่ไหน แนะบอกความจริงกับประชาชน อย่าโยนความผิดให้คนอื่นหรือเสนอข้อมูลที่ขัดแย้งกับสมุดปกขาวที่กระทรวงทำเผยแพร่
(5ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า
นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ไปให้ถ้อยคำกับศาลรัฐธรรมนูญและให้สัมภาษณ์หลายโอกาส เกี่ยวกับบทบาทของตัวเองในเรื่องปราสาทพระวิหาร ซึ่งตนและพรรคประชาธิปัตย์ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีข้อบิดเบือนหลายประการและฟ้องถึงความไม่ชอบมาพากลและข้อพิรุธที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งได้มีการอ้างอิงว่าในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่เมืองไครเชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์เมื่อปีที่แล้วได้มีการตกลงกันไปเรียบร้อยที่จะให้กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า
มติของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกหากอ่านให้ครบถ้วนจะปรากฎคำที่บอกว่าทั้งสองประเทศได้ตกลงกันที่จะให้กัมพูชาเป็นผู้เสนอ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีการสนับสนุนจากฝ่ายไทยอย่างชัดเจน โจ่งแจ้ง(Active Support)เพราะฉะนั้นมตินี้ไม่ได้เป็นที่พึงพอใจ 100 %จากฝ่ายไทย แต่ฝ่ายไทยถือว่าเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งที่สามารถชะลอเรื่องนี้มาได้และยังได้มีการกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ว่าการดำเนินการต่อไปจะต้องมีประเทศไทยให้การสนับสนุน โดยตนได้อ้างอิงจากสมุดปกขาวที่กระทรวงต่างประเทศทำออกมา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า
หลังจากนั้นระดับเจ้าหน้าที่มีปัญหามาตลอด เพราะช่วงม.ค.ที่ผ่านมาได้มีการส่งผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการของไทย ไปร่วมทำเอกสารหรือรายงานที่กัมพูชาจะต้องส่งคณะกรรมการมรดกโลก หลังจากที่ได้เข้าไปทำงานระยะหนึ่งเห็นได้ชัดว่าความเห็นต่าง ๆ ในฝ่ายไทยจะไม่ได้รับการรับฟัง ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการกลุ่มดังกล่าวจึงประกาศแยกตัวออกมา เหตุผลที่ทำอย่างนั้นก็เพื่อให้การอ้างอิงใด ๆ ของกัมพูชาจะไม่เป็นไปตามมติ ของคณะกรรมการมรดกโลกที่เมืองไครเชิร์ช เพราะถือว่าประเทศไทยจะไม่สนับสนุนอย่างชัดแจ้ง ซึ่งกัมพูชาก็พยายามหาทางให้ไทยไปสนับสนุน โดยเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมาได้มีการเชิญฝ่ายไทยไปที่กรุงปารีส ยูเนสโก เพื่อปรึกษาเรื่องนี้อีก ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าไม่ไป
“ผมมีรายงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ชัดเจน ซึ่งสาเหตุที่ไม่ไปเพราะการไปก็เป็นเพียงเพื่อรับรองให้รายงานของฝ่ายกัมพูชาสมบูรณ์เท่านั้น เราก็จะเห็นว่าท่าทีคัดค้านก็เป็นมาอย่างต่อเนื่อง วันที่ 10 เม.ย.ก็ยังมีหนังสือประท้วงออกไปจากกระทรวงการต่างประเทศ เพราะฉะนั้นข้ออ้างที่บอกว่า เรื่องนี้มันจบมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีจึงไม่เป็นความจริง แต่ก็มาสะดุดอยู่ว่าเหตุผลอะไรที่ยูเนสโกตอบหนังสือทักท้วงของส.ว.ว่า รมว.ต่างประเทศได้ไปลงนามในเอกสารฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งก็คือการลงนามในแถลงการณ์ร่วมที่มีมติครม.วันที่ 17 มิ.ย.และมาเซ็นเต็มที่เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ผมได้ไปพบข้อเท็จจริงว่าวันที่ 22 พ.ค.มีความสำคัญมาก”นายอภิสิทธิ์ กล่าว