นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมถึงกรณีมีการอ้างจดหมายระบุว่ามีการลงนามเรื่องปราสาทพระวิหาร
ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมว่า การแถลงข่าวของ ส.ว.ที่มีการอ้างถึงจดหมายดังกล่าว มีถ้อยคำไม่ถูกต้อง เนื่องจากการลงนามเอกสารวันที่ 22 พฤษภาคมนั้น เป็นการลงนามกำกับในร่างแถลงการณ์ร่วม เพื่อย้ำว่า สิ่งที่พูดคุยกัน อย่าไปแก้ไขข้อความ และยังมีข้อความเขียนชัดเจนว่า จะไม่มีผลผูกพันจนกว่าจะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (Pending Cabinet Approval) ดังนั้น เอกสารใดๆ ในวันที่ 22 พฤษภาคม จึงเป็นเพียงการลงนามกำกับ ไม่มีผลผูกพันใดๆ เรื่องนี้จึงเป็นข้อมูลที่ผิดพลาดของยูเนสโก ในไทย เราจึงได้เชิญผู้แทนยูเนสโก ประจำประเทศไทย มายังกระทรวงการต่างประเทศ เวลา 14.00 น. เพื่อยื่นหนังสือทักท้วง ให้แก้ไขข้อผิดพลาดบกพร่องที่มี
นายนพดลกล่าวว่า วันเดียวกันนี้ นายธนะ ดวงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปารีส ถือเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำยูเนสโกด้วยนั้น ได้รายงานว่า หารือเบื้องต้นกับผู้แทนยูเนสโก และแจ้งให้ฝ่ายนั้นรับทราบ
ไทยต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครอง ขณะนี้ ยูเนสโก เข้าใจด้วยดี ดังนั้น กัมพูชาจึงไม่สามารถนำจดหมายฉบับอื่นไปอ้างได้ นอกจากจดหมายที่ไทยส่งให้ยังทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทยได้รับไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
"เอกสารบางประการ ผมไม่สามารถพูดถึงได้ เพราะศาลสั่งห้ามพูดถึง แต่ยืนยันได้ว่า มีการระบุชัดเจนในเอกสารว่าการกลงนามกำกับจะไม่มีผลผูกพัน ก่อนที่ครม.จะอนุมัติ ผมได้เขียนป้องกันไว้แล้ว ไม่มีเจตนาจะเซ็นเพื่ออะไร ยืนยันว่าเราปฏิบัตตามคำสั่งศาลปกครอง และกัมพูชาต้องเข้าใจในสถานะของเรา" นายนพดลกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเตรียมความพร้อม เพื่อป้องกันเหตุใดๆ ที่จะเกิดขึ้นกับสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญหรือไม่
นายนพดลกล่าวว่า สถานทูตได้มีการประเมินสถานการณ์ตลอด ขณะนี้สถานการณ์ยังปกติ แต่ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ไม่ให้มีอะไรมากระทบกับความสัมพันธ์ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ไทยขอให้กัมพูชาคุ้มครองสถานทูตมากกว่าปกติ คือเป็นการระมัดระวังไม่ให้เกิดเหต ุและหวังว่าจะไม่เกิดเหตุบานปลาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการลงนามที่มีผลอย่างเป็นทางการคือ ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน โดยลงนามอย่างเป็นทางการ 3 ฝ่าย มีทั้งไทย กัมพูชา และยูเนสโก ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติ