วานนี้ (18 มิ.ย.) นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า
ได้สั่งการให้ นายสุรินทร์ จิรวิศิษฏ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) หามาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เนื่องจาก สปส.มีสมาชิกผู้ประกันตนกว่า 9 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างที่มีรายได้น้อย และ สปส.เองก็มีเงินกองทุนจำนวนกว่า 4 แสนล้านบาท น่าจะเป็นหน่วยงานที่สามารถช่วยเหลือคนเหล่านี้ได้ในยามวิกฤตค่าครองชีพ
"เบื้องต้นได้มอบหมายให้หาแนวทางการช่วยเหลือโดยอาจชะลอการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมให้กับผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อย เช่น ผู้ที่มีเงินเดือนไม่เกิน 9,000 บาท ซึ่งมีอยู่ในระบบประกันสังคมประมาณกว่า 5 ล้านคน เป็นเวลา 2-3 เดือน หรืออาจมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ค่าครองชีพในอนาคต เพราะปัจจุบันบุคคลเหล่านี้ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนคนละ 300-400 บาทต่อเดือน ซึ่งน่าจะสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปซื้อสิ่งของในการดำรงชีพได้ ช่วยบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่ง และหากภาวะเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นก็อาจพิจารณาเก็บเงินสบทบเข้ากองทุนอีกครั้ง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ป้าอุ เอาใจผู้ประกันตน เล็งชะลอเก็บเงินสมทบ
นางอุไรวรรณ กล่าวด้วยว่า
สำหรับขั้นตอนการงดหรือชะลอส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้น คงไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย เพียงนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ และประกาศใช้ได้ทันที คาดว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยเฉพาะลูกจ้างผู้ที่มีรายได้น้อยเท่านั้น ในส่วนของนายจ้าง ผู้ประกอบการ กระทรวงแรงงานจะหามาตรการอื่นที่เหมาะสมช่วยเหลือ
มีรายงานว่า
ในวันเดียวกันที่สำนักงานประกันสังคม นายสุรินทร์ ได้เรียกประชุมผู้บริหาร สปส.เพื่อหารือถึงข้อสั่งการของนางอุไรวรรณในการงดหรือชะลอจ่ายเงินสมทบสำหรับลูกจ้างที่มีรายได้น้อย ซึ่งในที่ประชุมเห็นว่าการงดเก็บเงินสมทบนั้นไม่สามารถทำได้ในทันที เพราะต้องแก้กฎหมายและอาจส่งผลกระทบถึงเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม โดยมีผู้เสนอทางออกว่า ในเมื่อรัฐบาลต้องการที่จะแจกเงินให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว หากรัฐบาลจ่ายแทนผู้ประกันตนในบางกรณี อาทิ เจ็บป่วย ซึ่งทุกวันนี้ผู้ประกันตนต้องจ่ายเดือนละ 1.5% ของรายได้ ดังนั้นหากรัฐบาลจ่ายส่วนนี้สำหรับลูกจ้างที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 8,000 บาท ก็จะช่วยลูกจ้างในระบบประกันสังคมได้ราว 4 ล้านคน โดยรัฐบาลควักกระเป๋าเดือนละ 200-300 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ต้องมีการหารือกับผู้บริหารกระทรวงอีกครั้ง