มีเดียมอนิเตอร์ พบทีวีระวังใช้ภาษารายงานข่าวพันธมิตรฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า

วันนี้ (17 มิ.ย.) โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (มีเดียมอนิเตอร์) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง ฟรีทีวีกับการรายงานข่าวการชุมนุมทางการเมือง 31 พ.ค.-1 มิ.ย. ซึ่งเป็นการสำรวจจากสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีทั้ง 6 ช่อง คือ ช่อง 3
, 5, 7, 9, NBT และทีวีไทยพีบีเอส เพื่อพิจารณาความสมดุลในการรายงานข่าวอย่างรอบด้านจากแหล่งข่าว 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มรัฐบาล และกลุ่มไม่สนับสนุนฝ่ายใด

 

นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ โครงการมีเดียมอนิเตอร์ เปิดเผยว่า


สถานีโทรทัศน์ที่ให้เวลารายงานข่าวการชุมนุมมากที่สุด ทั้ง 2 วัน คือ ไทยพีบีเอส รวม 6.56.11 ชม. รองลงมาคือ
NBT รวม 6.31.19 ชม. แต่ไทยพีบีเอส มีสัดส่วนเนื้อหาข่าวในวันเสาร์สูงมาก แต่กลับลดลงอย่างมากในวันอาทิตย์ ซึ่งน่าจะเกิดจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่อนคลายลง เพราะไม่มีการสลายการชุมนุม ขณะที่ NBT มีการรายงานเกาะติดสถานการณ์ในข่าวต้นชั่วโมงมากที่สุด รวม 46.44 นาที รองลงมาคือ ไทยพีบีเอส รวม 41.43 นาที ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว และพิธีกรข่าวจากทุกสถานีค่อนข้างมีความระมัดระวังในการใช้ภาษาที่อาจเข้าข่ายไม่เป็นกลาง  

ในส่วนของการนำเสนอเสียงแหล่งข่าว พบว่า


ช่อง 3
, 5, 9 และ NBT เน้นเสียงแหล่งข่าวฝ่ายรัฐบาลมากกว่า ขณะที่ช่อง 7 และไทยพีบีเอส ค่อนข้างเป็นธรรม ส่วนในด้านเนื้อหา ช่อง 3, 5 , 7, และ 9 เน้นประเด็นสถานการณ์ บรรยากาศ และความขัดแย้งของการชุมนุม NBT เน้นประเด็นสถานการณ์ บรรยากาศ และผลกระทบ เช่นการจราจร เศรษฐกิจ สถาบันการศึกษา ภาพลักษณ์การท่องเที่ยว และหน่วยงานราชการต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง ทีวีไทย เน้นเนื้อหาสาระจากเวทีพันธมิตรฯ เช่น ข้อเรียกร้อง ประเด็นต่างๆ ที่แกนนำแต่ละคนนำมาพูด สาเหตุของความขัดแย้ง ลำดับเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สื่อควรลดการนำเสนอแบบคุยข่าว ที่อาจมีการแสดงความคิดเห็น และไม่ควรตั้งคำถามที่ชี้นำ รวมทั้งไม่ตัดต่อภาพ / เสียง อย่างมีเป้าหมายให้ผู้ชมเกิดความคิดตามที่สื่อต้องการ

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์