ออกอาการลนลานทุกขณะ สำหรับ "รัฐบาลลูกกรอก" ภายใต้การนำของ "สมัคร สุนทรเวช" นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชาชน โดยเฉพาะ
"ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการเรียกประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อศุกร์ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ลุแก่อำนาจหนักถึงขั้นประกาศกร้าว สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดจัดการการแพร่ภาพสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV โดยอ้างว่าทำผิดตามกฎหมายอาญาหลายมาตรา พร้อมทั้งขู่ผู้ว่าฯ หากไม่จัดการจะถูกเล่นงาน
ล่าสุด ยังไม่หยุดเหิมอำนาจ สั่งการไปยังผู้ว่าฯ ให้ตัดสัญญาณการแพร่ภาพ ASTV ในช่วง "ปลุกระดมมวลชน"
ใครก็รู้ว่าขณะนี้มีเพียงทีวีช่องเดียวที่เกาะติด สถานการณ์การชุมนุมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการประเมินว่ามีคนดูทั้งในและต่างประเทศกว่า 19 ล้านคน จะด้วยตัวเลขนี้หรือเปล่าถึงทำให้ "เป็ดเหลิม" หรือ "อ้ายปื๊ด" (ตามประสาที่แกนนำพันธมิตรฯ เรียกท่าน รมว.มหาดไทยด้วยความเอ็นดู) ออกอาการ
อันน่าจะเป็นอาการของคนส่องกระจกแล้วเกิดตกใจกับภาพที่มองเห็น เพราะสารพัดวิธีก่อนหน้านี้ที่จะใช้จัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากไม่เป็นผล ทั้งการออกมาขู่ของ "สมัคร สุนทรเวช" จะใช้วิธีขั้นเด็ดขาด ให้แตกหักไปข้าง หรือการขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเจรจาแกนนำพันธมิตรฯ ให้สลายการชุมนุม
การออกข่าว (ความจริงครึ่งเดียว) ว่าสถานที่ปักหลักชุมนุมมาเกือบจะ 1 เดือน บริเวณสะพานมัฆวานฯ และถนนราชดำเนินนอก มีหน่วยงานราชการ-สถานการศึกษาหลายแห่ง โดยใช้ "เด็กนักเรียน" เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐ ดูเหมือนว่าไม่ได้ทำลายความชอบธรรมของการชุมนุม ที่มุ่งเน้นปมใหญ่ที่สร้างความเสียหายให้กับชาติบ้านเมืองอย่างมหาศาลได้เลย
ในทางกลับกัน การสร้างประเด็น "ดิสเครดิต" และอาศัยกฎหมายในการข่มขู่นั้น ยิ่งทำให้เพิ่มพลังให้กับม็อบได้ "เปิดประเด็น" ให้ฮึกเหิมในการต่อสู้มากขึ้น
ฝ่ายพันธมิตรฯ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, พิภพ ธงไชย, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สมศักดิ์ โกศัยสุข, สนธิ ลิ้มทองกุล ร่วมออกแถลงการณ์ตอบโต้ทันที เรียกร้องให้ ส.ว.เข้าชื่อเพื่อถอดถอน "เฉลิม" และขอให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้นมิให้ได้รับชมการออกอากาศของพันธมิตรฯ เป็นโจทก์ร่วมกับพันธมิตรฯ เพื่อร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อดำเนินคดีจนถึงที่สุด
พิภพกล่าวบนเวทีว่า "สงสัยพวกนี้ลืมอ่านประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ฝ่ายรัฐพยายามปิดกั้นการให้ข้อมูลข่าวสารประชาชน ยิ่งทำให้ประชาชนออกมารวมตัวกันมากขึ้น ทำให้รัฐบาลถึงจุดจบ และนี่คงใกล้ถึงจุดจบของรัฐบาลแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้พี่น้องประชาชนออกมาชุมนุมกันให้มากขึ้น"
ส่วน พล.ต.จำลอง เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด ใช้อารยะขัดขืนต่อการใช้คำสั่งโดยมิชอบ...
หากไล่ดูปฏิริยาของฝ่ายรัฐบาลแล้ว ไม่ต้องตกใจในอาการ "โดนน้ำร้อนลวก" จึงต้องดิ้นพล่านๆ เช่นนี้ เพราะเนื้อหาที่เหล่าแกนนำพันธมิตรฯ อาจารย์-นักวิชาการ เอ็นจีโอ และอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนำมาเปิดเผยจับผิด ทั้งความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานรัฐบาล การเร่งรีบแก้รัฐธรรมนูญ ปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งอุปโภค-บริโภค ขยับราคาขึ้น
ตรงใจ และความรู้สึก ของคนในสังคม !!!
ตลอดจนความเคลื่อนไหวของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังคงชักใยผ่านคนใกล้ตัว "จากข้อมูลและการกระทำ" ที่ปรากฏชัดอยู่ ยิ่งทำให้คนส่วนใหญ่เห็นถึง "ความพยายาม" ที่จะหลีกเลี่ยงกระบวนการยุติธรรม โดยมีรัฐบาลหุ่นเชิดชุดนี้ "อุ้มชู" อยู่เบื้องหลัง
ในขณะเดียวกัน เมื่อหันมาดูการทำงานของรัฐบาลที่เข้าสู่เดือนที่ 4 ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าเท่าใดนัก เห็นแต่ว่ายังคงสาละวนอยู่กับการเร่งแก้รัฐธรรมนูญเพื่อ "ทักษิณ" โดยไม่ให้ความสำคัญต่อประเด็นหลักที่ประเทศกำลังประสบปัญหา อาทิ เรื่องราคาน้ำมัน ถึงแม้ว่าจะเป็นไปตามกลไกของราคาตลาดน้ำมันโลก แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า สำหรับบุคคลบางกลุ่มที่ถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจด้านพลังงาน อาทิ ปตท. การขยับปรับตัวขึ้นราคาครั้งละ 0.30-0.40 บาท
อาจส่งผลให้นักลงทุนทำกำไรส่วนต่างตรงนี้ได้ทันทีมูลค่ามหาศาล ปัญหาที่ตามมาจึงหนีไม่พ้นค่าบริการ ค่าขนส่ง สิ่งต่างๆ ที่พึ่งพาน้ำมันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ต่างขยับปรับตัวพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่ลดละ
"ยากที่จะเยียวยา"
ประเทศไทยที่ได้ขึ้นชื่อว่าเมืองเกษตรกรรม ส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นำรายได้กลับเข้าสู่ประเทศมหาศาล แต่วันนี้แทบไม่น่าเชื่อว่า คนในประเทศต้องซื้อข้าวที่ตัวเองปลูกขึ้นมาด้วยราคาที่สูง เห็นได้ชัดจากการเปลี่ยนแปลงไป ตามร้านข้าวแกงจากเดิมเคยซื้อข้าวเปล่าจานละ 5 บาท ปัจจุบันขยับเป็น 7-10 บาท
มิพักต้องกล่าวถึง สมัชชาประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัด ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน 4 ประการ การประกาศลดราคาน้ำมัน ประกาศควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค กำชับเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และให้รัฐเร่งดำเนินการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนภายใน 5 วัน หากยังเพิกเฉยสมัชชาฯ ทั่วประเทศจะรวมพลังเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในวันที่ 17 มิ.ย.
เช่นเดียวกับกลุ่มพันธมิตรฯ กาฬสินธุ์ ที่ออกแถลงการณ์ให้รัฐเร่งดำเนินการแก้ปัญหาให้ประชาชน หากไม่ได้รับการเยียวยาอาจจะส่งตัวแทนเข้าร่วมชุมนุม
ส่วนภารกิจของบุคคลในรัฐบาลก็ดี ในพรรคพลังประชาชนก็ดี โดยเฉพาะฐานเสียงในภาคอีสาน พื้นที่ที่เป็นแหล่งเกษตรกรรม กระดูกสันหลังของชาติ บรรดา ส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชนยังคงมุ่งมั่นเห็นว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ต้องทำทันที โดยไม่ได้สนใจความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งถือเป็นฐานเสียงที่สำคัญจะเป็นอย่างไร
อีกประเด็นที่ "สั่นคลอน" วงการตุลาการ กับกรณีทนายความของอดีตนักการเมือง นำถุงขนมซึ่งภายในบรรจุเงินสด 2 ล้านบาท หวังที่จะมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่องนี้สร้างความมัวหมองให้แก่วงการตุลาการยิ่งนัก ไม่รู้ว่าเป็นความชะล่าใจ ย่ามใจ จงใจ หรือความเขลาของทนายผู้นั้น ก็สุดแล้วแต่จะตั้งคำถามตั้งมุมมองได้หลายแง่มุม
เพราะเหตุที่เกิดเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ซึ่งบังเอิญเหลือเกินกับวันที่ "ทักษิณ" เดินทางมารายงานตัวต่อศาล หลังจากกลับจากต่างประเทศพอดิบพอดี
แต่เรื่องนี้คงต้องว่าต่อไป เพราะทางศาลตั้ง "องค์คณะไต่สวน" เป็นที่เรียบร้อย เชื่อว่าอีกไม่นานคงเห็นโฉมหน้า "ไอ้โม่งถือถุงขนม" อยู่เบื้องหลัง
รวมถึงประเด็น นายสุนัย มโนมัยอุดม ในขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบการปกปิดโครงสร้างผู้ถือครองหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสท ของอดีตนายกรัฐมนตรี แต่กลับถูกตำรวจออกหมายเรียก-หมายจับ ในข้อหาหมิ่นประมาทอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุดศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้เพิกถอนหมายจับในคดีหมิ่นประมาท โดยทนายความของ สุนัย เชื่อว่า คดีนี้มีนักการเมืองระดับสูงสั่งการมาอีกที และยังเป็นการสั่งสอนว่าต่อไปใครมาทำคดีพวกนี้อีกก็ต้องโดนแบบนี้
อีกกรณี แม้จะเป็นสิทธิอันชอบธรรมของนายกรัฐมนตรีว่า จะให้เปิดหรือไม่ให้เปิดอภิปรายแบบไม่ต้องลงมติ อันเป็นผลมาจากพรรคฝ่ายค้านอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 ที่บัญญัติว่า
ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภา ขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้
แต่เมื่อดูปฏิกิริยาคนในพรรครัฐบาล ไม่อยากให้มีการเปิดอภิปราย โดย ชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อ้างถึงคำพูดนายกรัฐมนตรีว่า โดยประเพณีปฏิบัติในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ ไม่มีใครเปิดอภิปรายกัน
รวมทั้งรายงานข่าวในวันที่ สมัคร เรียกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชาชน เป็นการตอกย้ำการออกอาการอยู่ไม่น้อย ...
"สมัคร" บอกกับที่ประชุมว่า ไม่แน่ใจว่ารัฐสภาพอจะมีเวลาให้นายกฯ ชี้แจงหรือไม่ เนื่องจากการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเริ่มตั้งแต่วันที่ 9-27 มิ.ย. มีวาระสำคัญหลายเรื่อง เช่น การออกกฎหมายหลายฉบับ การพิจารณาญัตติเสนอตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงต้องมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2552 สมัครยังบอกว่าพร้อมจะชี้แจงปัญหาต่างๆ ต่อรัฐสภา ที่ผ่านมาเพิ่งทำงานมาแค่ 4 เดือน และไม่เคยทำอะไรผิด
ส่วนพรรคฝ่ายค้านขอรอ "สมัคร" ชี้แจงในรายการสนทนาประสาสมัคร วันที่ 15 มิ.ย.ก่อนว่า จะยินยอมใช้มาตรา 179 เปิดอภิปราย 2 สภาฯ โดยไม่ลงมติหรือไม่ หากยังเพิกเฉยก็พร้อมจะขยับไปถึงขั้น "ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ"
การจะอยู่หรือไปของรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะปัจจัยภายนอกเป็นตัวกำหนด ส่วนหนึ่งอยู่ที่ผลงานรัฐบาลทำตัวเอง ทั้งที่มีเวลา เครื่องมือ บุคลากร แต่ยังเลือกที่จะให้เป็นแบบนี้ ในเมื่อปัญหาปากท้องประชาชนแก้ไม่ได้ ราคาสินค้าแพงแก้ไม่ได้ ราคาน้ำมันแก้ไม่ได้ ราคาข้าวแก้ไม่ได้ ปัญหาการชุมนุมแก้ไม่ได้
คงมีอย่างเดียวที่เห็นว่าแก้ได้คือ รัฐธรรมนูญ!!!
ไม่ต้องแปลกใจกับอาการลุกลี้ลุกลนของคนในรัฐบาล และผู้ชักใยเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น แม้จะดูเหมือนไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ทั้งหมดนั้นทำให้เห็นว่า
"เวลาของรัฐบาลกำลังถูกนับถอยหลังลงเรื่อยๆ"
และคนในรัฐบาลก็รู้ดี ไม่อย่างนั้นจะออกโครงการเอาใจประชาชนล่วงหน้า "แจกคูปองแทนเงินสด" ตามวิธีการเดิมๆ ยามที่หยั่งรู้อนาคตทางการเมืองของตัวเอง ไปทำไม...