เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร
เป็นประธานประชุมสภาสมัยวิสามัญนัดแรก นายชัยขอให้สมาชิกเสียบบัตรในเครื่องลงคะแนนเพื่อแสดงตน แต่มีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมเพียง 191 คน แสดงตนอีกครั้งก็มีเพียง 198 คน ซึ่งไม่ครบองค์ประชุม นายชัยมีสีหน้าไม่พอใจและสั่งเลื่อนการประชุมไปอีก 30 นาที
เวลา 10.30 น. เปิดประชุมอีกครั้ง นายชัยกล่าวว่าราชการทำงาน 08.30 น. ก็มาทำงานกันได้
สภาเปิดประชุม 09.30 น. แต่ 10.00 น. สมาชิกยังไม่พร้อม ถ้าเป็นสถาบันการศึกษาถือว่าสายแล้วต้องโดนตัดคะแนน รัฐบาลมี 303 เสียง ส่วนฝ่ายค้านจะกดหรือไม่กดแสดงตนก็แล้วแต่ แต่ถ้าไม่ครบองค์ประชุมฝ่ายรัฐบาลก็โดนตำหนิโดยปริยาย และขอให้สมาชิกแสดงตนอีกครั้งมีสมาชิกอยู่ในห้องประชุม 295 คน จึงเริ่มประชุม
เป็นการพิจารณาเรื่องด่วนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ(ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่ศาลฎีกาเป็นผู้เสนอ
โดยสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายในวันที่ 27 ส.ค. ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการตั้งผู้ไต่สวนอิสระ กรณีกรณีนายกฯ รัฐมนตรี ประธานสภา ประธานวุฒิสภา ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อกฎหมาย ผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าวสามารถยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตั้งผู้ไต่สวนอิสระได้
สมาชิกฝ่ายค้านและรัฐบาลได้สลับกันอภิปราย ฝ่ายค้าน
อาทิ นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วน นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง นายทิวา เงินยวง ส.ส.สัดส่วน นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสนับสนุน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล อาทิ นายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน นายพีรพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคพลังประชาชน อภิปรายคัดค้านว่ากฎหมายมีข้อบกพร่องหลายจุด อาทิ การไม่รายงานทรัพย์สินต้องถูกดำเนินคดี น่าจะเขียนว่าเฉพาะเมื่อมีเจตนาพิเศษ จงใจปกปิด เพราะนักการเมืองหลายคนมีทรัพย์สินมากอาจหลงลืม ส่วนการให้มีผู้ไต่สวนอิสระ ถือว่าเป็นการตั้งพนักงานสอบสวนขึ้นซ้ำซ้อน เป็นการแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร เพิ่มอำนาจตุลาการจึงไม่เห็นด้วย เหมือนตบหน้าป.ป.ช. และยังเหมือนกับการที่คมช.ตั้งคตส.ด้วย
หลังจากอภิปรายนานกว่า 7 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติรับหลักการในวาระ 1 จำนวน 339 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง และตั้งกมธ.วิสามัญจำนวน 36 คน กำหนดการแปรญัตติ 7 วัน และปิดประชุมเวลา 18.30 น.