ชาวนา เอาแน่! ขู่ปิดถนนสี่มุมเมือง หมัก เต้น

ชาวนาฮึ่ม ปิดถนนสี่มุมเมือง ขีดเส้นตายให้รัฐบาล 2 วัน แก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำเหลือตันละไม่ถึงหมื่น  อธิบดีกรมการค้าภายในคาดไม่เกินสัปดาห์หน้า 'สมัคร' เต้นประชุม คชก.หามาตรการช่วยเหลือ เตรียมเสนอให้เปิดรับจำนำข้าวนาปรัง ยันเป้าหมายตันละ 1.4 หมื่นบาท


สมาคมชาวนาไทยขู่นำม็อบชาวนาปิดถนน 4 จุด ที่เป็นเส้นทางหลักเข้ากรุงเทพมหานคร (กทม.)

หากภายใน 2 วัน รัฐบาลไม่แก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาที่ราคาข้าวเปลือกเจ้าตกต่ำเหลือตันละไม่ถึง 10,000 บาท ทั้งที่รัฐบาลเคยยืนยันประกันราคาข้าวเปลือกเจ้า 5 เปอร์เซ็นต์ ที่ตันละ 14,000 บาท โดยนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางพร้อมตัวแทนชาวนา 5 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ขอให้เร่งรัดแก้ปัญหาข้าวเปลือกตกต่ำและเปิดโครงการรับจำนำข้าวนาปรังในทันที เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ว่า สมาคมยังได้ส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือต่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนายอภิสิทธิ์ระบุว่า จะนำปัญหาเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เงา ของพรรคในวันที่ 5 มิถุนายนนี้


นายประสิทธิ์กล่าวว่า ชาวนากำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากราคาข้าวเปลือกเจ้า

ตกต่ำไม่ถึงตันละ 10,000 บาท บางพื้นที่เหลือ 8,000-9,500 บาท โดยโรงสีแจ้งว่า ผู้ส่งออกปรับราคาซื้อข้าวสารต่ำลงทุกวัน และมีท่าทีจะซื้อในราคาลดลง เพียงไม่ถึงสัปดาห์ราคาอยู่ที่ตันละ 19,000 บาท จากเดิม 28,000 บาท ทั้งที่รัฐบาลได้ยืนยันประกันราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,000 บาท


''ชาวนาต้องการให้เปิดรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าในราคาตันละ 14,000-15,000 บาท ซึ่งในทางปฏิบัติการรับจำนำทำได้เลย เพราะมีระเบียบปฏิบัติอยู่แล้ว หากใช้วิธีการอื่นจะเสียเวลาอีก ด้านราคานั้นก็พิจารณาจากราคาส่งออกข้าวที่ไม่ได้ตกลงตามราคาข้าวในประเทศ และยังขายได้ตันละ 950 เหรียญสหรัฐ เทียบเป็นราคาข้าวเปลือกจะอยู่ที่ตันละ 15,000 บาท หรือข้าวสาราคาตันละ 27,000 บาท โดยรัฐก็ต้องไปดูว่าสาเหตุที่ราคาข้าวในประเทศตกต่ำและไม่สอดคล้องกับราคาส่งออก เพราะมีการบิดเบือนกลไกตลาดโดยกลุ่มประโยชน์หรือมีการทุบราคาหรือไม่'' นายประสิทธิ์กล่าว และว่า สมาคมจะขอรอฟังคำตอบจากภาครัฐอีก 2 วัน หากไม่คืบหน้าชาวนาทั่วประเทศเตรียมเดินทางเข้า กทม. และปิดการจราจรในพื้นที่ เพื่อเร่งรัดให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือ


นายวิเชียร พวงลำเจียก กรรมการสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า จะให้เวลารัฐบาล 2 วันในการเร่งแก้ปัญหาให้กับชาวนา

คือขอให้รัฐบาลแทรกแซงราคาข้าวที่ตกต่ำ ด้วยการเปิดโครงการรับจำนำข้าวในทุกจังหวัด เพราะจะได้เป็นหนทางให้เกษตรกรได้มีทางเลือกในการขายข้าว หากรัฐบาลไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ กำหนดเป็นวันรวมพลปิดถนน โดยชาวนาจากภาคเหนือและภาคกลาง จะเดินทางเข้า กทม. และอาจปิดถนนสายเอเชียช่วง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ชาวนาสายอีสานเข้า กทม. และอาจปิดถนนพลโยธินช่วง อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ชาวนาภาคตะวันตกเดินทางเข้า กทม.ใช้ถนนเพชรเกษม และอาจปิดถนนเส้นทางนี้ ส่วนชาวนาจาก จ.สุพรรณบุรี นนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา จะไปรวมตัวปิดถนนที่สี่แยกนพวงศ์ เขต จ.นนทบุรี เพื่อกดดันรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหา หากไม่เป็นผลอีกจะเคลื่อนตัวทั้ง 4 ทิศ มุ่งสู่ทำเนียบรัฐบาล


ด้านนายยรรยงกล่าวว่า ไม่น่าเกินต้นสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยกระทรวงพาณิชย์จะเสนอที่ประชุมให้เปิดรับจำนำข้าวนาปรังปี 2551 ซึ่งในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดกว่า 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยราคารับจำนำคำนวณจากค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง แนวโน้มราคาตลาดโลกและต้นทุนเกษตรกร แต่ราคาเฉลี่ยในประเทศเดิมจะหักราคาต่ำสุดและสูงสุด แต่ในปีนี้จะนำราคาสูงสุดมาคิดคำนวณด้วย หรือการนำราคาข้าวเปลือกที่สูงสุด 15,000-16,000 บาทมาคิดคำนวณ ซึ่งราคาเป้าหมายยังเป็นตันละ 14,000 บาท มีองค์การคลังสินค้า (อคส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลในการรับจำนำและปล่อยกู้ให้ชาวนา ส่วนปริมาณจะกำหนดให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิม


ส่วนที่ จ.อุตรดิตถ์ ชาวนากว่า 100 คน ชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัด ยื่นหนังสือเรียกร้องถึงรัฐบาลผ่านนายธวัชชัย ฟักอังกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้ช่วยพยุงราคาข้าวเปลือกที่ปัจจุบันราคาเหลือตันละ 8,500-9,000 บาทเท่านั้น ซึ่งราคาดังกล่าวเกษตรกรอยู่ไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า

ภาวะราคาข้าวที่ลดลง เนื่องจากประเทศผู้ซื้อชะลอดูสถานการณ์ และเชื่อว่าราคาข้าวน่าจะลดลงได้อีก เป็นผลจากประเทศผู้ส่งออกข้าวสำคัญอย่างเวียดนาม อินเดีย ยกเลิกประกาศชะลอส่งออก และเริ่มส่งออกอีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้ ภายหลังผลผลิตในประเทศมีเพียงพอ ประกอบการผลผลิตธัญพืชสำคัญอย่างข้าวสาลีมีผลผลิตออกสู่ตลาดกว่าคาดการณ์ถึง 50 ล้านตัน หรือมีผลผลิตสูงถึง 650 ล้านตัน ทำให้ราคาข้าวสาลีตกลงอย่างรุนแรง จากเดือนมีนาคม 500 เหรียญ/ตัน เหลือ 260 เหรียญ/ตัน


''ตอนนี้สต๊อคของผู้ส่งออกและโรงสีมีมาก เมื่อตลาดส่งออกเงียบย่อมส่งผลจิตวิทยาต่อราคาข้าวในประเทศที่ลดลง และที่ผ่านมาเห็นว่าราคาสูงเกินไป ที่มีการกักตุนไว้ก็เริ่มปล่อยยิ่งทำให้ราคาตกลง ไม่ใช่มีการกดราคา แต่เมื่อรัฐบาลเปิดรับจำนำก็เป็นเรื่องดีต่อการพยุงราคาไม่ให้ลดลงเร็ว แต่ควรกำหนดราคารับจำนำที่เหมาะสม สถานการณ์ขณะนี้ราคาอยู่ที่ตันละ 12,000 บาท ไม่ควรถึง 14,000 บาท เพราะจะกระทบต่อราคาส่งออกในปลายปี เมื่อประเทศผู้ส่งออกหันมาส่งออกอีกครั้ง ราคาย่อมสูงไม่เท่าในต้นปีอีกแล้ว'' นายชูเกียรติกล่าว และว่า ความผันผวนของราคาและการหันมาส่งออกของประเทศคู่แข่งจะไม่กระทบต่อเป้าหมายการส่งออกข้าวไทยปีนี้ประมาณ 9 ล้านตัน เพราะยังมีหลายประเทศที่ยังไม่ได้ซื้อข้าว โดยอาจรอดูในเรื่องราคา


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์