ตลาดหุ้นจับตาการเมืองไทย โพลชี้94%ต้องการสงบสุข

วันนี้ (1 มิ.ย.) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 833.65 จุด ร่วงลงร้อยละ 4.79 จาก 875.59 จุด ในสัปดาห์ก่อนหน้า และร้อยละ 2.85 จากสิ้นปี 2550 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.63 จาก 116,466.00 ล้านบาท ในสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 118,364.62 ล้านบาท

คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ลดจาก
29,116.50 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 23,672.92 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (MAI) ปิดที่ 276.42 จุด ขยับลงร้อยละ 1.4 จาก 280.41 จุดในสัปดาห์ก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากสิ้นปีที่แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 13,182.03 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิที่ 12,358.21 ล้านบาท และ 823.82 ล้านบาท ตามลำดับ
 

 
ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลง 4 วันติดต่อกัน

โดยในวันจันทร์ ดัชนีร่วงลงตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศจากแรงเทขายหุ้นกลุ่มต่างๆ ทั่วกระดาน โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ธนาคาร สื่อสาร และอสังหาริมทรัพย์ ยกเว้นเพียงกลุ่มปิโตรเคมีและท่องเที่ยว ขณะที่บรรยากาศการลงทุนได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยการเมืองหลังการชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงขายหุ้นพลังงานออกมาอย่างต่อเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนตัวลง และความกังวลเกี่ยวกับการที่รัฐบาลต้องการให้โรงกลั่นปรับลดค่าการกลั่น ส่งผลให้ดัชนีปิดตลาดลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ
1 เดือน

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า

ดัชนีน่าจะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้จากที่ร่วงลงมากในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนคงจับตามองสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือน พ.ค. โดยกระทรวงพาณิชย์ในวันจันทร์ (
2 มิ.ย.) ทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลกและการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ซึ่ง บล.กสิกรไทย คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 830 และ 820 จุด และแนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 848-850 และ 860 จุด ตามลำดับ 

วันเดียวกัน ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนต่อเหตุการณ์บ้านเมืองขณะนี้ เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ประชาชนอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุขเพิ่มขึ้นจากร้อยละ
88.8 ในเดือน มี.ค. มาอยู่ที่ร้อยละ 94.1 ในเดือน พ.ค. นอกจากนี้ ประชาชนยังอยากเห็นสื่อมวลชนเสนอข่าวให้คนไทยรู้สึกดีต่อกันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 81.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 86.5  

ผลวิจัยยังพบว่า

ประชาชนวิตกกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากร้อยละ
62.4  มาอยู่ที่ร้อยละ 79.6  ประชาชนวิตกกังวลต่อเหตุการณ์บ้านเมืองเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 85.5 และคิดว่าการแบ่งขั้วทางการเมืองทำให้สังคมไทยแตกแยกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 57.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 60.3 และมองว่าสังคมไทยกำลังเข้าใกล้สภาพบ้านป่าเมืองเถื่อนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 74.8  

นอกจากนี้ ยังพบว่า

คนส่วนใหญ่หรือร้อยละ
68.8 ไม่กล้าพูดเต็มที่ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่สงบสุข รองลงมา ไม่กล้าพูดว่าวันนี้คนไทยรักกัน ร้อยละ 65.1 ไม่กล้าพูดว่าผู้ใหญ่ในสังคมไทยมีความเมตตากรุณา ร้อยละ 64 อย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.4 กล้าพูดว่า ถ้าเลือกเกิดได้อยากเกิดเป็นคนไทยอีก 

เมื่อสอบถามถึงแนวโน้มความรุนแรงของการชุมนุมในอีก 6 เดือนข้างหน้า ผลสำรวจพบว่า
 
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ
66.3 คิดว่าจะรุนแรงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.1 คิดว่าจะเท่าเดิม และร้อยละ 5.6 เท่านั้นที่คิดว่าจะลดลง ส่วนสาเหตุของการใช้ความรุนแรงในการชุมนุม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.1 ระบุมาจากการท้าทาย ยั่วยุ ข่มขู่ รองลงมาคือ ร้อยละ 72.2 ระบุการขาดสติ ไม่ยับยั้งชั่งใจ ร้อยละ 70.8 ระบุการกระทำของมือที่ 3 กลุ่มสร้างสถานการณ์
 

เมื่อถามถึงทางออกของปัญหาวุ่นวายทางการเมืองขณะนี้ พบว่า
 
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ
80.2 ระบุความมีสติสัมปชัญญะ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ รองลงมาคือร้อยละ 75.4 การยอมถอยคนละก้าว ร้อยละ 72.7 ระบุรู้จักการให้อภัย ร้อยละ 69.3 ระบุการให้โอกาสแก่กันและกัน

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์