ยื่นถอดถอนส.ว.-ส.ส.แล้ว สมัครให้กำลังใจเจ้าหน้าที่

วันนี้ (26 พ.ค.) พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เปิดเผยระหว่างการตรวจเยี่ยมความเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่า
 
เมื่อคืนที่ผ่านมา นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติงานและให้มีการเตรียมกำลังให้พร้อม ยืนยันตำรวจทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่แล้ว แม้จะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง โดยในวันนี้ได้จัดกำลังสับเปลี่ยน 800 นาย ดูแลความปลอดภัย ซึ่งในครั้งนี้ จะไม่เข้าสลายการชุมนุม แต่จะไม่อนุญาตให้กลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนขบวนอย่างเด็ดขาด เพราะเชื่อว่า แกนนำ ไม่สามารถควบคุมฝูงชนได้ โดยจะให้ส่งตัวแทนจำนวน 10 คน เดินทางไปยังรัฐสภาเท่านั้น

 ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่า
 
ยอมรับว่าเป็นห่วงความไม่สงบที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง พร้อมแนะ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายพันธมิตรฯ และฝ่ายต่อต้านพันธมิตรฯ ให้คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับชาติบ้านเมืองด้วย 
 "หวังว่าเหตุการณ์คงจะไม่รุนแรง ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีส่วนทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ฝ่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจคงจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง" ผบ.ทบ.กล่าว และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะสามารถรับมือสถานการณ์ได้ ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น และยังไม่มีการประสานขอกำลังทหาร เพื่อเข้าไปช่วยดูแลสถานการณ์ 

 
ขณะที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ออกมาตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรักษาความปลอดภัยให้กลุ่มผู้ชุมนุม เพราะเห็นว่าจะต่างจากการชุมนุมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทั้งที่กลุ่มต่อต้านสร้างความปั่นป่วนและทำผิดกฎหมาย แต่ไม่ดำเนินการใดๆ ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมย้ำว่าการชุมนุมยืดเยื้อแน่ แต่ได้เตรียมรับมือสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการสลายการชุมนุม 
 

พล.ต.จำลองย้ำว่า จะยุติการชุมนุมต่อเมื่อมีการถอนญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากสภาฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
 
ล่าสุด แกนนำพันธมิตรฯ ได้เดินทางไปถึงรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือถอดถอน ส.ว.และ ส.ส.ที่สนับสนุนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกจากตำแหน่งแล้ว โดยมีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นผู้รับหนังสือดังกล่าว ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ระบุความผิดของผู้ที่ถูกยื่นถอดถอนทั้งหมด 4 ข้อ คือ

1. เนื่องจาก ส.ส.ที่ลงชื่อในญัตติส่วนหนึ่งกำลังถูกพิจารณาคดี และมีคดีที่คาบเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง ถือว่าพรรคการเมืองนั้นๆ มีส่วนได้ส่วนเสียในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามร่างที่มีการเสนอแก้ไข ถือว่ามีผลประโยชน์ขัดกัน 

 
2. ตามร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น มีจุดมุ่งหมายเปลี่ยนโครงสร้างวุฒิสภา ทั้งที่มา อำนาจหน้าที่ โดยจะให้มีการยุบเลิก ส.ว.ที่มาจากการสรรหา ฉะนั้น ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งบางส่วนที่ลงชื่อ ถือว่าผลประโยชน์ขัดกัน 3. รูปแบบที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 และ 4. เป็นความผิดตามมาตรา 64 เพราะพบว่า การเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์