นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า
พรรคประชาธิปัตย์จะมีการประชุมในวันที่ 22 พ.ค. เพื่อดูรายละเอียดว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส.รัฐบาลเป็นอย่างไร ก่อนจะกำหนดท่าทีของพรรคต่อไป ตราบใดที่เป็นการแก้ไขเพื่อตัวเองเราก็ไม่เห็นด้วย และอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในสังคม เบื้องต้นพรรคประชาธิปัตย์อาจมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเข้าประกบ ส่วนแนว ความคิดที่จะไม่ร่วมสังฆกรรมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง แต่หากไม่เข้าไปร่วมพิจารณาหรือไม่เข้าไปแปรญัตติเลย จะเท่ากับเป็นการให้การพิจารณาผ่านไปรวดเร็วโดยไม่มีความรอบคอบ
ส่วนตัวรู้สึกว่าเราต้องทำหน้าที่ในการคัดค้าน
อย่างน้อยก็มีท่าทีของ ส.ว. และ ส.ส.พรรคพลังประชาชนบางส่วนที่รับฟังข้อเสนอแนะบางประเด็นจากพรรคประชาธิปัตย์ เหมือนอย่างที่ก่อนหน้านี้มีคนมาบอกว่าอย่างไรเขาก็จะแก้ไข 2-3 มาตราให้เสร็จก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภา ตนก็บอกว่ามันไม่แน่เสมอไป เพราะพรรคการเมืองต้องฟังเสียงของสังคมด้วย ในที่สุดการแก้ไขก็ไม่เกิดขึ้นในการประชุมสมัยสามัญ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์ กล่าวว่า
การที่นายกฯของบทำประชามติว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะที่ลูกพรรคพลังประชาชนก็ไปยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ทำให้มองได้ว่าที่สุดแล้วเป็นปาหี่ตีสองหน้าตบตาประชาชนหรือเปล่า เพราะการที่ไปถามประชาชนหลังจากที่ยื่นร่างแก้ไขแล้ว ทำให้มองเห็นชัดว่าจริงๆแล้วอยากฟังความเห็นของประชาชนหรือไม่ หรือเป็นแค่เกมการเมืองที่จะลดกระแสความไม่เห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าสมมติว่านายกฯต้องการจะถามประชาชนก่อน ก็ควรบอกให้ลูกพรรคถอนร่างออกมา
สำหรับตัวร่างที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนยื่นไปนั้น เป้าหมายอยู่ที่มาตรา 237 และ มาตรา 309 เพื่อช่วยเหลือคนบางคนให้พ้นจากคดีของ คตส.
ซึ่งยังมีอยู่บางมาตราที่ระบุว่า ประกาศของคปค.ที่ขัดกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้าไปใหม่ถือเป็นการบังคับใช้ไม่ได้ ตรงนี้ถือเป็นการมัดตราสัง คตส. ป.ป.ช. และ กกต.ชุดปัจจุบัน เพราะองค์กรเหล่านี้เกิดจากคำสั่งของ คปค. ถ้าใช้บังคับไม่ได้ก็แปลว่าถึงที่สุดแล้วต้องยกเลิกทั้งหมด จึงอยากให้ประชาชนติดตามและรู้เท่าทัน