นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าววันนี้ (20 พ.ค.) ว่า
ขณะนี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประสานส่งเจ้าหน้าที่มาชี้แจง กกต. กรณีการจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ รัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม กกต. ได้ลงมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการชุดที่ 14 มี พล.อ.ยอดชาย เทพยสุวรรณ เป็นประธาน สอบสวนภายใน 15 วัน ถ้าไม่แล้วเสร็จสามารถขอขยายเวลาการสอบได้
กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวต่อว่า หลังจากคณะอนุกรรมการสอบสวนฯ สรุปผลสอบแล้วจะนำผลสอบเข้าสู่ที่ประชุม กกต. เพื่อพิจารณา
โดยหลักในการวินิจฉัย คือ ดูสัญญาการว่าจ้าง แต่หากไม่มีสัญญา กกต. ต้องเชิญเจ้าของบริษัท หรือ กรรมการบริษัท มาสอบปากคำ นางสดศรี กล่าวถึงกรณีนายสมัครได้ยุติการจัดรายการแล้วจะมีผลต่อการสอบสวนหรือไม่ ว่า การที่มีตำแหน่งในนิติบุคคล เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี หรือ นายกรัฐมนตรี แล้ว จะต้องลาออกภายใน 30 วัน ตามมาตรา 268 แต่หากเป็นกรณีที่มีการดำรงตำแหน่งแล้วไม่ลาออก ถือว่า ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 268 ดังนั้น การที่นายสมัครยุติบทบาทขณะนี้ ถือว่าไม่มีผล
ถามว่า ถ้า กกต. ตัดสินให้นายสมัครขาดคุณสมบัติจำเป็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกหรือไม่ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า
รัฐธรรมนูญมาตรา 267 และ 268 ไม่ได้เขียนให้ กกต. ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดัง นั้น หาก กกต. ตีความว่า ขัดตามมาตรา 268 การสิ้นสุดลงของตำแหน่งรัฐมนตรี หรือ นายกรัฐมนตรี จะสิ้นสุดลงทันที อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาจเคร่งครัดต่อนักการเมืองมาก คือ ให้นักการเมืองต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมาตรา 267 ห้ามนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรี มีตำแหน่งในนิติบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งห้ามเป็นลูกจ้างของบุคคลใด ที่คำว่า ลูกจ้างของบุคคลใด เข้าข่ายตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ หรือ เข้าข่ายในลักษณะที่เป็นการจ้างทำของ
วันเดียวกัน นายสุเมธ อุปนิสากร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม กล่าวถึงเรืองเดียวกันว่า หลังจากอนุกรรมการไต่สวนฯ สรุปสำนวนและส่งให้ กกต. คาดว่า กกต. จะใช้เวลา 1-2 วัน ในการวินิจฉัยและสรุป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การพิจารณาเรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีไม่รู้สึกกดดันใด ๆ แม้นายสมัครจะอ้างว่า เรื่องดังกล่าว เป็นความพยายามที่จ้องล้มเพื่อต้องการให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี