นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะรองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าววันนี้ (19 พ.ค.)
กรณี ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน เสนอให้ นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พิจารณาตัวเองด้วยการลาออกเพื่อต่ออายุให้รัฐบาล หลังจากที่ฝ่ายค้านได้ยื่นข้อมูลคำบรรยายของ นายจักรภพ ที่มีลักษณะหมิ่นสถาบัน ให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ว่า พรรคพลังประชาชนอยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ส่วนตัวยังไม่ได้ฟังหรือเห็นสิ่งที่ นายจักรภพ ได้พูดออกไป
"บ้านเมืองก็มีกฎหมาย และกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ต้องมาพิจารณาว่า ฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ และคงต้องรอให้ นายจักรภพ ชี้แจงจากการแปลคำปาฐกถาที่ได้กล่าวไว้ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อยากให้ทุกอย่างดำเนินการไปตามขั้นตอน รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซง หรือชี้นำว่า บทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร น่าจะเป็นวิธีที่ดีสุด เพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ให้กระจ่าง หากรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องหรือแทรกแซง ก็อาจจะถูกตั้งข้อครหาได้" รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวและว่า ในส่วนความเห็นของ ร.ท.กุเทพ ถือเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ได้เป็นความเห็นของพรรคพลังประชาชน ส่วนพรรคพลังประชาชนจะพิจารณาอย่างไร คงต้องให้ นายสมัคร ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นผู้พิจารณา อย่างไรก็ตาม แกนนำพรรคพลังประชาชนได้พูดคุยในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว เมื่อมีการทักท้วงและสังคมได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้
โยนกม.พิพากษาจักรภพ ปชป.ติรบ.สอบตก5ด้าน
รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวด้วยว่า
ผู้บริหารพรรคพลังประชาชนต้องพิจารณาและรับฟังความคิดเห็น รวมถึงให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายตามข้อเท็จจริง โดยจะไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน สำหรับการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เราจะดูในแง่ของข้อเท็จจริงมากกว่า แต่ยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงว่าเรื่องนี้จะทำให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ด้าน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงวันเดียวกัน ถึงการประเมินผลการทำงาน 3 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาล ว่า
ผลการสำรวจของหลายสำนักระบุว่ารัฐบาลสอบตก เพราะรัฐบาลมุ่งเน้นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่ามุ่งแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ขณะที่สังคมวิจารณ์ว่ารัฐบาลต้องการทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง ปัจจัยภายใน 5 ด้านที่ทำให้รัฐบาลสอบตก
คือ 1. รัฐบาลไร้ทิศทาง ทั้งสภาพการทำงานของรัฐบาลที่เป็นแบบต่างคนต่างทำ ไม่บูรณาการ อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงด้านเศรษฐกิจทำงานไม่ลงรอยกัน
2. รัฐบาลสร้างปัญหาที่เกิดจากรัฐบาลเอง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และมุ่งแก้รัฐธรรมนูญ
3. รัฐบาลท้าตีท้าต่อย โดยเฉพาะกรณีตำหนินักวิชาการที่วิจารณ์รัฐบาล ขณะที่นายกรัฐมนตรีเองตำหนิโพลสำนักต่างๆ รวมถึงการตำหนิสื่อมวลชน ทะเลาะกับนักข่าวโดยใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม
4. รัฐบาลปล่อยข่าวทำลายทำร้ายผู้อื่น เช่นกรณี นายกรัฐมนตรีปล่อยข่าวเรื่องปฏิวัติ พูดถึงการที่ธนาคารจะเจ๊ง และพูดถึงคนหัวเถิก แต่นายกรัฐมนตรีกลับไม่ได้ดำเนินการใดๆ
5. รัฐบาลมีพฤติกรรมลื่นไหลไปเรื่อย โดยเฉพาะเรื่องที่นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนคำพูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถูกกดดันจากเจ้าของพรรคตัวจริง ขณะที่การประชุม
6 พรรคร่วมรัฐบาลที่มีข่าวว่าจะหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในที่สุดกลับออกมาบอกว่าไม่ได้หารือเรื่องดังกล่าว และขอให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการ และการแก้ไขปัญหาข้าวที่ลื่นไหลเปลี่ยนแนวทางไปมา
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า ไม่ได้ติเรือทั้งโกลน
แต่เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้สร้างผลงานที่น่าพอใจของประชาชน และมีพฤติกรรมติดกับดักของตัวเองที่สร้างขึ้นมา จนก่อให้เกิดปัญหามากมาย อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลพยายามออกจากกับดัก จะมีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถบริหารประเทศได้มากกว่าแก้ปัญหาภายในรัฐบาล หรือพรรคร่วมรัฐบาล หากรัฐบาลมีจิตใจเปิดกว้างรับฟังเสียงวิจารณ์ หาทางออกจากกับดักของตนเอง เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้หลายเรื่อง