จาตุรนต์ไม่วางใจทหารเชื่อยังมีคนคิดโค่น รบ.

วันที่ 5 พ.ค. เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ตลาดบองมาเช่ ย่านประชาชื่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

ได้แถลงถึงสถานการณ์การเมืองผ่านระบบแคมฟรอกซ์จากประเทศจีนว่า ได้ติดตามข่าวสารเมืองไทยอยู่ตลอดเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะกำลังเดินเข้าสู่วิกฤติเหมือนตอนก่อนเกิดเหตุ 19 กันยาฯ 49 โดยมีบางกลุ่มใช้กลวิธีเดิมในการสร้างข่าวกล่าวหาโจมตีอีกฝ่ายทั้งที่ไม่มีข้อเท็จจริง พยายามใช้สถาบันเบื้องสูงมาเป็นข้ออ้าง แต่ไม่ใช้กฎหมายบ้านเมืองเป็นตัวแก้ปัญหา ซึ่งก่อนเกิดเหตุ 19 กันยาฯ ก็ใช้วิธีแบบนี้ แต่ภายหลังได้พิสูจน์แล้วว่าไม่มีมูลความจริงเลย แต่ผลก็คือมีการยึดอำนาจจนบ้านเมืองเสียหายไปแล้ว เป็นวิธีของกลุ่มคนที่อยากให้เกิดการปฏิวัติ โดยการหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อนำไปสู่การยึดอำนาจ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับใคร มีแต่เสียหายกับทุกฝ่าย

เมื่อถามว่า จากข้อมูลที่มีอยู่เป็นการขู่หรือมีความคิดจะทำปฏิวัติอีกรอบจริง นายจาตุรนต์ตอบว่า ก็มีแต่คนออกตัวว่าไม่คิดจะทำ ซึ่งตนคิดว่ามีทั้งขู่ทั้งอยากให้เกิดของพวกพันธมิตรฯบางคน ซึ่งมีเนื้อหาที่สำคัญคือการออกมาโจมตีทางการเมือง เหมือนอยากจะสร้างเงื่อนไขให้ทหารทำรัฐประหาร โดยใช้วิธีอะไรก็ได้

นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า คนเหล่านี้ไม่เคยยึดระบอบประชาธิปไตย ทำอย่างไรก็ได้โดยไม่คิดถึงวิธีการ เพราะไม่เชื่อถือในวิถีทางประชาธิปไตยอยู่แล้ว

แต่พยายามยกรัฐธรรมนูญปี 50 ขึ้นมาอ้างไม่ยอมให้แก้ไข แต่ไม่ได้ เลื่อมใสจริง ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกันจับตาดูการนำเสนอเนื้อหาของกลุ่มพันธมิตรฯที่จะสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การยึดอำนาจอีกรอบ เมื่อถามว่า มองสถานการณ์ ขณะนี้ใกล้เคียงกับตอนเกิดเหตุ 19 กันยาฯหรือยัง นายจาตุรนต์ตอบว่า ใกล้เคียงมาก มีการจัดชุมนุมเน้นการกล่าวหาโจมตีแบบเลื่อนลอย เมื่อถามว่า แสดงว่าไม่เชื่อในคำพูดของผู้นำกองทัพว่าจะไม่ทำปฏิวัติอีก นายจาตุรนต์ตอบว่า คงบอกไม่ได้ว่าเชื่อทั้ง 100% หรือไม่ ขณะนี้ผู้นำกองทัพส่วนใหญ่อาจไม่คิด แต่นายทหารบางคน จะคิดหรือไม่ตนทายใจไม่ถูก แต่ถ้ามีการสร้างสถานการณ์ ขึ้นมาเรื่อยๆก็เป็นเหตุผลที่ทหารจะอ้างว่าทำปฏิวัติเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ซึ่งในระยะยาวเมืองไทยไม่มีวันปลอดการรัฐประหารไปได้ ดังนั้น สังคมต้องร่วมกันประณามคนเหล่านี้ เพราะมีเจตนาไม่ดีกับบ้านเมือง



นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า ดังนั้น เราต้องแก้กันในระบบด้วยสันติวิธี ใช้สติปัญญา ไม่ตั้งป้อมเข้าใส่กันซึ่งจะทำให้ประเทศชาติพังมากกว่า

เมื่อถามว่า ส.ว.ได้เสนอความเห็นให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.3) ขึ้นมาดำเนินการแทนการตั้งคณะกรรมาธิการ นายจาตุรนต์ตอบว่า ยังเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จลุล่วง และได้รับการสนับสนุนที่มากพอ การตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมาน่าจะเป็นประโยชน์กว่า เมื่อถามว่า รัฐบาลค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจะไม่เอาแนวทางนี้ นายจาตุรนต์ตอบว่า ไม่ทราบว่าพรรคร่วมรัฐบาลได้คุยกันแล้วหรือยัง เห็นแต่ข่าวว่าวิปรัฐบาลไม่เอา แต่ก็ยังหวังว่า เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลได้หารือกันจะมีข้อสรุปโดยหันมาใช้แนวทางการตั้ง ส.ส.ร. ไม่เช่นนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยากขึ้น เมื่อถามว่า รัฐบาลอ้างได้รับอำนาจจากประชาชนมีความชอบธรรมที่จะตั้งคณะกรรมาธิการมาดำเนินการเองได้ นายจาตุรนต์ตอบว่า ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมจริง แต่ตั้ง ส.ส.ร.มาทำจะง่ายกว่า เพราะทำไปอาจมีเสียงค้าน เสียงหนุนอาจไม่พอ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนอาจถอยออกไป ที่ตนเสนอก็เพื่อลดความรู้สึกว่าเป็นการแก้ กันเองในกลุ่มเล็กๆ ส่วนที่มาของ ส.ส.ร.นั้น หากให้เลือกตั้งทั่วประเทศอาจซ้อนกับอำนาจของรัฐสภา อาจนำชุดปี 40 มาพิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่าทีของนายกฯค่อนข้างแข็งที่จะให้รัฐสภาทำฝ่ายเดียว

นายจาตุรนต์ตอบว่า ก็ขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายในสังคม โดยเฉพาะฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยที่ต้องช่วยกันระดมความเห็น เมื่อถามว่า อดีตส.ส.ร.50 และนายปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจขัดต่อคำปรารภของรัฐธรรมนูญ และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ นายจาตุรนต์ตอบว่า คำปรารภอยู่ในหมวดหลักๆหมวดแรกๆ ซึ่งไม่มีใครคิดไปแก้ไข แต่ที่จะแก้คือในหมวดอื่นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะอำนาจปวงชนชาวไทยไปตกอยู่ในมือของกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ นอกจากนี้ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญก็เปิดเอาไว้ให้แก้ไขได้ ก็แสดงว่าไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่า ควรต้องทำประชามติก่อนแก้หรือไม่ นายจาตุรนต์ตอบว่า สนใจในประเด็นนี้อยู่ว่าควรทำก่อนหรือหลัง แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรแก้ไขก่อน จะได้มีข้อมูลว่าแก้ไขประเด็นใดบ้าง ถึงบอกว่ายึดตามรัฐธรรมนูญ 40 ก็ไม่รู้ว่าจะมีการแก้มากน้อยแค่ไหน จากนั้นจึงให้ประชาชนลงประชามติ

“กลุ่มที่คัดค้านไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญนั้นพยายามปกป้อง โดยไม่ยินยอมให้แก้ไขอะไรเลย ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาโดยผลของการรัฐประหาร ทำกลไกการเมืองอ่อนแอ ทั้งที่ก่อนหน้านี้คนเหล่านี้ก็ยอมรับเองว่า รัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่อง แต่มาตอนนี้พยายามเบี่ยงเบนประเด็น โดยมุ่งทำลายฝ่ายตรงข้าม มีการเรียกร้องให้เกิดการรัฐประหารมาฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งอีก หากทุกฝ่ายช่วยกันคิด ไม่ตั้งป้อมเข้าใส่กันก็ไปได้ แต่ที่บอกว่ามีจุดประสงค์เพื่อให้คนผิดพ้นผิดนั้น ถ้าเป็นความจริง เชื่อว่าสังคมคงไม่ยอม แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ คนไม่ผิดก็ต้องรับโทษด้วย ถือว่าน่าเศร้าที่เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อมุ่งทำลายบุคคลและกลุ่มบุคคลบางส่วนเท่านั้น” นายจาตุรนต์กล่าว

เมื่อถามว่า มองเสถียรภาพของรัฐบาลในขณะนี้อย่างไร

นายจาตุรนต์ตอบว่า ปัญหาจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องยุบพรรค จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนขั้วให้อีกฝ่ายขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเท่ากับรัฐบาลกำลังไม่มีเสถียรภาพ เมื่อถามถึงผลสำรวจความเห็นต่อตัวนายกฯและรัฐมนตรีบางคนตกต่ำมาก นายจาตุรนต์ตอบว่า มีปัจจัยหลายอย่างประกอบ แต่สถานการณ์ขณะนี้ก็ไม่ง่ายที่จะได้รับความนิยม ทั้งปัญหาสินค้าแพงและราคาน้ำมันสูง เท่าที่ดูนายกฯค่อนข้างปรับตัวอยู่ สำหรับบุคลิกคำพูดของนายกฯและรัฐมนตรีบางคน คงไม่ถึงกับเป็นสายล่อฟ้า แต่เป็นรสนิยมส่วนตัว เมื่อถามถึงการร่วมกิจกรรมในมูลนิธิบ้านเลขที่ 111 นายจาตุรนต์ตอบว่า มูลนิธิฯ 111 คงไม่ มีบทบาทเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ คงเป็นกิจกรรมด้านสังคม มากกว่า สำหรับตนคงไม่เข้าไปมีส่วนมากนัก เพราะต้องแสดงบทบาทด้านการเมือง ไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่าตั้งขึ้นมาเพื่อการเมืองอีก แต่ก็จะเข้าไปร่วมบ้างหากเป็นการสนับสนุนทางด้านการศึกษา


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์