ทำท่าจะเนียนไปได้ กับการขอกลับรับราชการ ของ "ร.ต.ดวง อยู่บำรุง" บุตรชาย "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" รมว.มหาดไทย เนียนไปได้เพราะ แม้สังคมจะออกมาต่อต้านด้วยข้อหาทางสังคม แต่หากทำหูทวนลมไม่ได้ยิน ใครหน้าไหนก็ทำอะไรไม่ได้
และยิ่งกระทรวงกลาโหมออกมายืนยันดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบหลักเกณฑ์ทุกประการ สำทับด้วย ความเห็นชอบของ "สมัคร สุนทรเวช" นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมที่ถือหางด้วยความเอ็นดูหลานด้วยแล้ว
มีแบ๊คแน่นขนาดนี้ "ลูกดวง" คงสบายใจ ลามไปถึงผู้เป็นพ่อ ที่ชื่นใจยิ่งกว่า เพราะลูกสุดที่รักได้กู้ศักดิ์ศรีคืนมาอีกครั้ง สะท้อนจากการที่ "ร.ต.อ.เฉลิม" ลงทุนจัดงานติดยศให้ "ลูกดวง" ด้วยตัวเอง
เป็นภาพของตำรวจ ที่ติดยศให้ทหาร หาชมได้ยากยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ในระเบียบและข้อกฎหมาย ยังมีความเห็นต่าง โดย "พล.อ.อ.วีรวิทย์ คงศักดิ์" รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และอดีตประธานกรรมการสอบกรณี "ร.ต.ดวง" ถูกตั้งกรรมการสอบวินัยราชการ กลับระบุว่า การคืนยศยังไม่สมบูรณ์
แต่ "พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ" รองโฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า ก่อนที่จะให้ "ร.ต.ดวง" กลับเข้ารับราชการ ได้สอบถามทางกรมพระธรรมนูญแล้ว ยืนยันว่าทุกอย่างถูกต้องไม่มีปัญหา และ "พล.อ.วินัย ภัททิยกุล" ปลัดกระทรวงกลาโหม ก็ระบุว่าถูกต้องตามหลักเกณฑ์
โดยอ้างว่า การออกราชการเพราะขาดการรายงานตัวเป็นเวลา 15 วันนั้น วันที่เกิดเหตุคือวันที่ 29 ตุลาคม 2544 และต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน มีคำสั่งพักราชการ ซึ่งก็หมายความถึงการให้ออกราชการไปก่อน เพื่อให้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เมื่อมีคำสั่งพักราชการ "ร.ต.ดวง" ก็ไม่จำเป็นต้องมาทำงาน การไม่มาทำงาน จึงไม่ใช่การขาดราชการ ไม่ถือเป็นความผิด
และการกลับเข้าราชการในสำนักรัฐมนตรี ไม่ใช่กองบัญชาการทหารสูงสุด (บก.สส.) จึงไม่จำเป็นต้องทำหนังสือไปถึงหน่วยดังกล่าว
ตามข้อโต้แย้งของ "พล.ท.พีระพงษ์" แสดงว่า "ร.ต.ดวง" ถูกปลดราชการเพราะต้องคดีอาญา แต่การไม่มารายงานตัวเป็นเวลา 15 วันนั้น ไม่มีความผิด เพราะคำสั่งพักราชการ ผู้ถูกคำสั่งไม่จำเป็นต้องมาทำงาน จึงไม่มีความผิดฐานนี้
นอกจากนี้ยังอ้างว่า ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) หน่วยต้นสังกัดยังไปตรวจสอบคุณสมบัติ ว่า "ร.ต.ดวง" ไม่มีมลทินในคดี เมื่อเป็นเช่นนี้การกลับเข้ารับราชการของ "ร.ต.ดวง" จึงถูกหลักเกณฑ์ตามคำชี้แจงของกระทรวงกลาโหม
ระเบียบและข้อกฎหมาย ถูกยกขึ้นมากล่าวอ้างแบบเต็มๆ
ทีนี้ลองมาสำรวจระเบียบข้อกฎหมาย เพื่อรองรับข้อกล่าวอ้างข้างต้นดูบ้าง ข้อเท็จจริง คือ
ลำดับที่ 1 ลำพังสำนักงานเลขาฯรมว.กลาโหม ไม่สามารถทำรายงานเสนอ รมว. เพื่ออนุมัติคืนยศให้ "ร.ต.ดวง" ได้ เพราะตามระเบียบข้อบังคับของทหาร กำหนดให้หน่วยต้นสังกัดของผู้ต้องหา หรือจำเลย ที่ถูกสั่งพักราชการ ปลด หรือถอดยศ เป็นผู้ทำรายงานขออนุมัติ
กรณีของ "ร.ต.ดวง" ต้นสังกัด คือ สำนักเลขาฯบก.สส. เพราะหลังจากที่ "ร.ต.ดวง" ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา ศรภ.บก.สส. หน่วยต้นสังกัดของ "ร.ต.ดวง" ในขณะนั้น ได้ทำเรื่องให้ "ร.ต.ดวง" ไปสำรองราชการที่ บก.สส. ดังนั้น ถ้าจะทำเรื่องขอ ต้องไปทำที่สำนักเลขาฯบก.สส. ไม่ใช่ สำนักงานเลขาฯรมว.
ลำดับที่ 2 ถือว่ามีความสำคัญ คือ "ร.ต.ดวง" ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาและหลบหนี รวมถึงไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ราชการปกติที่หน่วยต้นสังกัด อันเป็นที่มาของการถูกพักราชการ และถอดยศ ซึ่งผู้บังคับบัญชาทหาร ต้องส่งตัวไปฟ้องศาล เพราะหนีราชการไปแล้ว ยังมีข้อหาว่าได้กระทำความผิดอาญาอื่นรวมอยู่ด้วย ตามข้อบังคับ กห.ว่าด้วยการลงทัณฑ์ทหารขาดหนีราชการ พ.ศ.2528
อย่างไรก็ตาม ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา ที่เอามาอ้างในการขอยศว่าศาลยกฟ้องนั้น สามารถขอคืนได้จริง แต่ต้องขอไปที่หน่วยต้นสังกัดที่ทหารผู้นั้นประจำอยู่ ไม่ใช่หน่วยต้นสังกัดที่ทหารประจำอยู่ครั้งแรก
แต่ทว่า ในความผิดฐานหนีราชการ ซึ่ง บก.สส.ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่ได้เจ็บป่วย หรือรักษาตัวอยู่แห่งใด และไม่พบว่าถูกจับกุมและควบคุมตัวอยู่สถานีตำรวจแห่งใด
จึงถือว่าเป็นการหนีราชการในเวลาประจำการ จึงเสนอปลดยศและถอดยศตามมติสภา กห. ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะต้องส่งฟ้องศาลในความผิดฐานหนีราชการ แต่กลับไม่มีการส่งฟ้องคดี
อย่างไรก็ตาม แม้จะมี พ.ร.บ.ล้างมลทิน ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาก็ตาม แต่มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ก็ระบุว่า
"การล้างมลทินตามมาตรา 4 และ 5 ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับการล้างมลทินในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น"
ทั้งหมด หมายความว่า "ร.ต.ดวง" ไม่สามารถขอกลับเข้ารับราชการทหารได้ เพราะ "ร.ต.ดวง" มีความผิดฐานหนีราชการอีกคดี การพิจารณาเรื่องที่ศาลยกฟ้องเพียงอย่างเดียว เพื่อขอกลับเข้ารับราชการนั้นไม่ได้
ส่วนผู้เกี่ยวข้องกับการคืนยศให้ "ร.ต.ดวง" จะมีความผิดหรือไม่นั้น ต้องดูว่ามีเจตนาฝ่าฝืนระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับของทางราชการทหารหรือไม่ โดยสามารถตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเมื่อมีผู้ร้องเรียนมายังผู้บังคับบัญชาทหาร
และหากมีความผิด จะได้รับโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476, ประมวลกฎหมายอาญาทหาร และประมวลกฎหมายอาญา
ดังนั้น หากไม่รอบคอบหรือคิดลักไก่ วันนี้ต้องเสียววาบกันเป็นหมู่คณะ ลามไปถึงผู้มีอำนาจเซ็นอนุมัติในขั้นสุดท้าย
ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขต กทม. ต่อผลงานรอบ 3 เดือนรัฐบาล "สมัคร" ปรากฏรัฐมนตรีที่ได้คะแนนต่ำสุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย "ร.ต.อ.เฉลิม" รองลงมา คือ "สมัคร" และ "พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์" รองนายกฯ
จะเป็นดั่งโบราณว่าไว้ งานไม่ทำ ทำแต่เรื่อง หรือไม่ไม่ทราบ
แต่ท่างานนี้ "ลูกดวง" ทำร้อนถึงพ่อ และลามจะร้อนถึง รมว.กลาโหมด้วย...
***ที่มา: หนังสือพิมพ์ มติชน วันที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11014,หน้า 11