ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แถลงผลวิจัยเรื่อง “ปัญหาการเลือกตั้งของประเทศไทยและระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550” ว่า จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 26,929 คน ใน 65 จังหวัด เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550 พบว่าผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเข้าใจระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วนร้อยละ 75.58 และเลือกเพราะชอบพรรคและนโยบายพรรคในแบบสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 66.09 และแบบแบ่งเขตที่เน้นเลือกคนก็ยังเลือกเพราะพรรคร้อยละ 55.63
ทั้งยังพบว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา
ไม่ได้มีความขัดแย้งเรื่อง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ดังที่เข้าใจกัน เพราะมีผู้ตอบว่าเลือกใครหรือไม่เลือกไม่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณร้อยละ 62.51 เลือกเพราะชอบ พ.ต.ท.ทักษิณร้อยละ 19.64 เลือกเพราะไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณร้อยละ 17.85 นอกจากนี้ พบว่าเงินไม่ได้มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งตามที่เข้าใจ เพราะมีผู้ตอบมีการ ซื้อเสียงแน่นอนเพราะเห็นมาด้วยตนเองร้อยละ 9.91 แต่ก็มีผู้ตอบว่าแม้ไม่ได้เงินก็จะเลือกตั้งร้อยละ 77.04 มีเพียงร้อยละ 9.04 ระบุว่าถ้าไม่ได้เงินจะไม่เลือก
ระบุระบบใหม่ทำคนสับสน
นายปริญญากล่าวว่า
แม้ว่าผลวิจัยชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการทางบวกของการเมืองไทย แต่จากการวิเคราะห์ เชิงลึกเห็นว่าการเลือกตั้งระบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 สร้างความสับสนแก่ประชาชน โดยเฉพาะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ทำให้เกิดความไม่เท่ากันในแต่ละเขต กระทบต่อหลักความเสมอภาค และอาจเกิดปัญหาซื้อเสียงแบบลูกโดดในเขตที่เลือกได้ 2-3 คน รวมทั้งการที่ กกต. ให้ประชาชนรับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบพร้อมกัน ทำให้เกิดความสับสนมากขึ้น ถ้าผู้ใช้สิทธิกากบาทในบัตรเลือกตั้งแบบสัดส่วนโดยนึกว่าเป็นบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต บัตรนั้นจะเป็นบัตรเสีย ขณะที่หากกากบาทในบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตโดยนึกว่าเป็นบัตรเลือกตั้งแบบสัดส่วน บัตรเลือกตั้งนั้นจะยังคงเป็นบัตรดีที่กากบาทหมายเลขเดียว แต่คะแนนที่เลือกไม่ตรงกับที่ตั้งใจ นอกจากนี้ เห็นว่า ควรยกเลิกข้อกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ เพราะผลการวิจัยพบว่าแม้จะไม่กำหนดให้เป็นหน้าที่ แต่ ประชาชน 3 ใน 4 ก็พร้อมเดินทางไปเลือกตั้งอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน กลับเป็นการสร้างปัญหาทำให้ กกต.ต้องมัววุ่นวายกับการตรวจสอบสิทธิของประชาชนด้วย