ที่อาคารศรีจุลทรัพย์ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต.
ให้ความเห็นถึงการปรับแก้รัฐธรรมนูญและลดวาระกกต.ว่า เรื่องแก้ปรับรัฐธรรมนูญเพื่อลดวาระการทำงานของกกต.ชุดนี้ ตนอยากทำงานให้ได้ดีที่สุดเพียง แต่มีเค้าว่าระยะเวลาสั้นลง เราอยากทำให้มากที่สุดและดีที่สุด เรื่องตำแหน่งกกต. ทุกคนไม่ได้ยึดติด เพราะถือว่าเข้ามาทำหน้าที่เพื่อชาติและเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาสำนวนต่างๆที่เหลืออยู่ เพราะยังมีเวลาอีกมากในการพิจารณา กระบวน การต่างๆน่าจะใช้เวลาเต็มที่อีกประมาณ 1 ปี ตนไม่หนักใจและไม่รู้สึกกดดัน พยายามทำงานอย่างตรงไปตรงมาที่สุด
นายอภิชาต ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวด้วยว่า ได้ลงนามในหนังสือถึงอัยการสูงสุด
ให้เสนอความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองและที่ประชุมกกต.ที่มีมติให้อัยการสูงสุดดำเนินการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสั่งยุบพรรคชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตยแล้ว โดยจะส่งหนังสือดังกล่าวพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานไปยังอัยการสูงสุดภายในวันที่ 24 เม.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกเหนือจากหนังสือของนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว จะส่งเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาไปยังอัยการสูงสุดประมาณ 10 รายการ
อาทิ มติสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายมณเฑียร สงฆ์ประชา ผู้สมัครส.ส.พรรคชาติไทย และนายสุนทร วิลาวัลย์ ผู้สมัครส.ส.พรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งบุคคลทั้ง 2 เป็นกรรมการบริหารพรรคขณะกระทำความผิด จนเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องพิจารณาเสนอยุบพรรคในเวลาต่อมา รวมทั้งรายงานผลสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการชุด นายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธาน บันทึกถ้อยคำพยานที่ให้การกับกรรมการสืบสวนชุดดังกล่าวนี้ และรายงานผลวินิจฉัยข้อกฎหมายของคณะที่ปรึกษากฎหมายที่มีนายสุพล ยุติธาดา เป็นประธาน บันทึกการให้ถ้อยคำของผู้แทนพรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคต่อกกต. รวมทั้งมติกกต.ที่ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง เสนอยุบ 2 พรรคการเมือง พร้อมทั้งเสนอความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง และประกาศตอบรับการจดแจ้ง การเปลี่ยนแปลงกรรม การบริหารพรรคของทั้ง 2 พรรคด้วย
ขณะที่นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอแก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของกกต. ว่า
เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องทางการเมือง หากกกต.ชุดนี้ต้องยุติบทบาทลงก็ยินดีไปตามกฎหมาย หากกฎหมายออกมาและประชาชนยอมรับกกต.ก็ยอมรับตามที่ประชาชนตัดสิน อย่างไรก็ตามหากเห็นว่ากกต.ชุดนี้มาโดยไม่ชอบตามกฎหมาย หรือมาจากคมช.ก็ถือว่าภารกิจที่กกต.ได้ดำเนินมาแล้ว เช่น เลือกตั้งส.ส. ส.ว. ซึ่งถือว่าเป็นผลิตผลของกกต.ก็ต้องเป็นโมฆะตามไปด้วย รวมทั้งการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่ กกต. จัดเลือกตั้งมาตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.2549 ก็ต้องถือว่าโมฆะเช่นกัน ซึ่งขึ้นกับการพิจารณาตีความของศาลรัฐธรรมนูญว่า กกต.ชุดนี้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่