นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกฯ และรมว.อุตสาหกรรม
กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ต้องยอมรับว่าวันนี้ในเรื่องของความเห็นยังแตกต่างกันค่อนข้างมาก ตนยังไม่ทราบว่านายกฯ จะนัดพรรคร่วมรัฐบาลหารือเมื่อใด ตนเห็นว่าหัวใจของรัฐธรรมนูญอยู่ในหลักการของประชา ธิปไตยคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งตอนนี้ทางพรรคกำลังพิจารณากระบวนการนี้จะทำได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ตนเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนมากกว่า ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกที่สภาจะดำเนินการ
ต่อข้อถามว่าจะมีปัญหาตามมาหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสุวิทย์กล่าวว่า
ความเห็นต่างไม่ใช่เรื่องแปลก ขณะนี้หลายพรรคก็ยังเห็นต่างอยู่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน หรือจะก่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความแตกแยกอย่างรุนแรง และไม่ต้องการให้ความเห็นต่างมา สร้างความแตกแยกในสังคม เนื่องจากรัฐธรรมนูญหลายฉบับก่อให้เกิดปัญหาความวุ่นวายตามมา เช่น กรณีพฤษภาทมิฬ ก็มาจากรัฐธรรมนูญเช่นกัน ดังนั้นจึงอยากให้หันหน้ามาคุยกัน เพื่อให้ได้จุดร่วม และคิดถึงประชาชนเป็นสำคัญ
นายสุวิทย์ ยังกล่าวถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นพระพุทธศาสนาว่า
เนื่องจากรัฐบาลยังไม่เคยมีกฎหมายหรือกลไกที่เข้าไปส่งเสริมเรื่องพุทธศาสนาอย่างแท้จริง จึงจำเป็นจะต้องมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองส่งเสริมพระพุทธศาสนาขึ้นมาเพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 79 ทั้งนี้จึงมอบหมายให้ พล.อ.ชูชัย เอื้อสกุล ที่ปรึกษารองนายกฯ ซึ่งเคยเป็นประธานสมัชชาชาวพุทธไปดำเนินการในเรื่องนี้
นายเสถียร วิพรมหา เลขาธิการเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ กล่าวว่า
ตนและเครือข่ายองค์กรชาวพุทธ ได้ยื่นหนังสือถึงนายสมัคร เพื่อขอให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ โดยในหนังสือระบุว่า รัฐบาลกำลังที่จะมีการแก้รัฐธรรมนูญ ชาวพุทธทั้งหลายจึงเห็นว่าเป็นโอกาส อันดีที่จะขอฝากให้แก่นายกฯ รับเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขด้วย เพราะถ้าพระสงฆ์ และพุทธ ศาสนิกชนออกมารณรงค์เรียกร้องอีกครั้งจะเป็นภาพที่ดูไม่งาม