โพลชี้ชาวบ้านหนุน สมัคร นั่งนายกฯไม่ถึงครึ่ง

เมื่อวันที่ 15 เม.ย. นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

เปิดเผยผลสำรวจหัวข้อ “ประชาชนคิดอย่างไรต่อความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้” โดยสุ่มตัวอย่างจากประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 2,625 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 2-14 เมษายน 2551 โดยพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์ เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อคดีความและความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ พบว่าร้อยละ 88.8 ระบุควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ร้อยละ 11.2 ระบุควรให้ฝ่ายการเมืองทำอะไรบางอย่าง ยังพบอีกว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.4 ไม่เห็นด้วยกับการยุบคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) อีกร้อยละ 34.3 เห็นด้วย และร้อยละ 4.2 ไม่มีความเห็น

ส่วนคำถามที่ว่า สิ่งใดที่คิดว่าที่น่าเป็นห่วงที่สุดใน 6 เดือนข้างหน้า

กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 75 คิดว่าจะเกิดปัญหาทุจริตคอรัปชันในกลุ่มนักการเมืองเพื่อถอนทุนคืน ร้อยละ 68.3 จะเกิดการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือนักการเมืองบางคน ร้อยละ 68 จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงในกลุ่มนักการเมืองของรัฐบาลเองและจะเกิดการแทรกแซงสื่อมวลชน ร้อยละ 63.8 จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นเผชิญหน้าของประชาชนสองฝ่าย ส่วนหัวข้อที่ว่าคิดว่านักการเมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองใดจะช่วยกันให้ปัญหาวิกฤติต่างๆ ผ่านพ้นไปได้ ผลสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.5 ระบุว่า คือนายสมัคร สุนทรเวช รองลงมาร้อยละ 19.1 ระบุคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และร้อยละ 16.1 ระบุรัฐบาล ร้อยละ 13.8 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 10.1 ระบุนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อประชาชน กลุ่มพันธมิตรฯ และร้อยละ 9.7 ระบุกลุ่มประชาชนทั่วไป ตามลำดับ

นายนพดลกล่าวอีกว่า เมื่อสอบถามถึงการสนับสนุนให้นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.6 ยังคงสนับสนุนนายสมัคร ขณะที่ร้อยละ 26.3 ไม่สนับสนุน และร้อยละ 26.1 ขออยู่ ตรงกลาง โดยเหตุผลสนับสนุนนายสมัครอันดับต้นๆ คือเป็นคนพูดจริงทำจริง พูดตรงไปตรงมา ควรให้โอกาส รอดูการกระทำ และความชอบเป็นส่วนตัว ขณะที่เหตุผลของผู้ไม่สนับสนุนคือ คิดว่านายสมัครมีบุคลิกไม่เหมาะสม พูด มากไป พูดจาไม่ดี ไม่ชอบเป็นส่วนตัว และยังไม่เห็นผลงาน

เมื่อสอบถามความเห็นต่อท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำงานกับมูลนิธิไทยคม และชักชวนนักธุรกิจต่างชาติมาลงทุนในประเทศ

พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.9 เห็นด้วยทั้งสองแนวทาง ขณะที่ร้อยละ 18.7 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าไม่จริงใจ เป็นการสร้างภาพ มีอะไรบางอย่างแอบแฝง และควรกลับมาเล่นการเมืองและเป็นนายกรัฐมนตรีอีก เมื่อถามว่า จะสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณทำงานการเมืองต่อไปหรือไม่ ผลสำรวจพบเกินครึ่งหรือร้อยละ 53 พร้อมสนับสนุน และร้อยละ 47 ไม่พร้อมสนับสนุน โดยคนที่พร้อมสนับสนุนเป็นคนที่สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมากกว่าคนที่จบปริญญาตรีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.7 ระบุ พ.ต.ท.ทักษิณควรยอมรับคำตัดสิน ถ้าถูกตัดสินว่าผิดจริง ในขณะที่ร้อยละ 33.3 ระบุควรต่อสู้ ให้พ้นผิดต่อไป


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์