วันนี้ (15 เม.ย.) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองหลังเทศกาลสงกรานต์ ว่า
สถานการณ์การเมืองจากนี้ไปคงไม่เย็นลง เพราะมีประเด็นที่ก่อให้เกิดการโต้เถียงและขัดแย้งกันมากขึ้น อีกทั้ง รัฐบาลให้ความสนใจน้อยมากต่อปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นเรื่องด่วนที่สุด แต่กลับสนใจว่าจะหาทางเล่นงานฝ่ายค้านในเรื่องใด ทั้งนี้ ตนเห็นว่า มีเงื่อนไข 2 ปัจจัยที่เกิดก่อนเป็นรัฐบาล ซึ่งจะมีผลต่อสถานการณ์การเมือง คือ 1.คดีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ถูกนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม.ฟ้องหมิ่นประมาท และศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งจะมีผลต่ออายุของรัฐบาลชุดนี้ เพราะถ้าศาลอุทธรณ์ตัดสินโดยยืนตามศาลชั้นต้น นายสมัครก็ต้องถูกจำคุกและต้องหลุดจากความเป็นนายกฯ 2.คดีการทุจริตเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ศาลฎีกากำลังพิจารณา โดยทั้ง 2 คนเป็นประมุขของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัญหาที่เกิดก่อนการรับตำแหน่ง และไม่แน่นอนว่าศาลจะวินิจฉัยทั้ง 2 คดีนี้อย่างไร
ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า
คดียุบพรรคที่มาจากการกระทำผิดในการเลือกตั้ง จนเป็นที่มาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะลงเอยอย่างไร เพราะถ้ายุบพรรคมัชฌิมาธิปไตยและชาติไทย ก็หนีไม่พ้นที่พรรคพลังประชาชนจะต้องอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ซึ่งทำให้กรรมการบริหารพรรค นายกฯ และรัฐมนตรีจะมีปัญหาในการดำรงตำแหน่งต่อไป และอาจต้องถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้งเหมือน 111 คนของอดีตพรรคไทยรักไทย แต่เป็นเรื่องขององค์กรที่ทำหน้าที่จะวินิจฉัยอย่างไร นอกจากนี้ สิ่งที่จะสร้างความขัดแย้งขึ้นมาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 และ 309 ซึ่งชัดเจนว่าทำเพื่อหนีปัญหาของตัวเองคือการถูกยุบพรรค จะทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งทางสังคมอย่างมาก และกำลังคืบไปข้างหน้า ก็ต้องดูว่าจะลงเอยอย่างไร อีกทั้งยังต้องรอดูคดีที่จะมีการฟ้องร้องรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เช่น คดีทุจริตการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกทม. หรือเรื่องของกทม.ในสมัยที่นายสมัครเป็นผู้ว่าฯกทม.ที่ลุกลามไปถึงคนอื่นด้วย
นายชวน กล่าวว่า เมื่อมองภาพทั่วไปและในแง่การใช้เหตุผล ตนคิดว่าสถานการณ์ความขัดแย้งไม่น่าจะพัฒนาไปถึงขั้นที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนอกระบบ
และถ้ากระบวนการและองค์กรที่รับผิดชอบแต่ละด้านมีความแน่วแน่และกล้าตัดสินใจทำตามครรลองที่ถูกต้อง ยึดมั่นกฎเกณฑ์กติกาอย่างแท้จริง บ้านเมืองจะไม่เกิดวิกฤติ แต่ถ้าเกรงใจกัน กลัว หรือถูกวิ่งเต้นถูกซื้อ ในที่สุดความหวังของเราที่จะพึ่งองค์กรใดก็จะหมดไปและเกิดวิกฤติไม่จบสิ้น
เมื่อถามถึงความพยายามปลุกระดมมวลชนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบางคน
ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่เขาพยายามจะให้เกิดบุคคลขึ้นมาเพื่อทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับอีกฝ่ายและเป็นกระบวนการที่จะขยายผลทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งต้องใช้เงินและคนธรรมดาทำไม่ได้ โดยชัดเจนว่ามีอยู่ฝ่ายเดียวที่ใช้เงินเพื่อให้คนปะทะกัน ถ้ายุติได้ ทุกอย่างจะเบาลง แต่ทั้งหมดก็คงต้องหวังพึ่งกระบวนการชอบธรรมของบ้านเมืองให้ทุกองค์กรกล้าทำในสิ่งที่ได้รับมอบหมาย
ต่อข้อถามว่าการปฏิวัติรัฐประหารจะยังมีโอกาสเกิดขึ้นอีกหรือไม่
นายชวน กล่าวว่า การยึดอำนาจแต่ละครั้งไม่เคยทำให้ประเทศดีขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ 19 ก.ย.2549 ก่อตัวจากวิกฤติที่มีการใช้อำนาจเกินขอบเขตจนฝ่ายหนึ่งมองว่าแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว จึงใช้วิธีนี้มายุติปัญหา แต่เมื่อยึดอำนาจแล้ว ทุกอย่างก็หยุดชะงัก และมาถึงวันนี้ต้องทบทวนและส่งเสริมให้สถาบันและองค์กรทั้งหลายมีคนดีเข้าไปทำงานกล้าตัดสินอย่างตรงไปตรงมา ประชาชนจึงจะมีความหวังว่าบ้านเมืองนี้มีที่พึ่ง มิฉะนั้นก็จะหันไปพึ่งหมอดูกันหมด นอกจากนี้ ในส่วนของกองทัพก็คงต้องทบทวนบทบาทตัวเอง ซึ่งเราก็ต้องระวังไม่ให้ย้อนกลับไปสู่ทิศทางนั้นอีก