ในวาระที่มีการรดน้ำดำหัวขอพรจาก พล.อ.เปรม โดยที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิเสธที่จะเป็นคนเดินนำ ผบ.เหล่าทัพ ในฐานะเจ้ากระทรวงกลาโหม จึงถือเป็นครั้งแรกที่ไม่มี 'ผู้นำฝ่ายการเมือง' เข้าร่วมพิธี
การที่บรรดา "บิ๊กข้าราชการ" ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน เข้าร่วมพิธีอวยพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่บ้านพักรับรองสี่เสาเทเวศร์ เนื่องในวันสำคัญต่างๆ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบเนื่องมายาวนาน ตั้งแต่สมัยที่ พล.อ.เปรม ยังเป็นนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศอยู่
ทั้งนี้ ธรรมเนียมปฏิบัตินี้แรกเริ่มเดิมที ในอดีตบรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่จะมีกิจกรรมร่วมกันจนเป็นประเพณีปฏิบัติ คือ การเข้าร่วมรับประทานอาหารกับ พล.อ.เปรม ในวันจันทร์และพุธของทุกสัปดาห์
ด้วยความที่ พล.อ.เปรม ถือเป็นบุคคลที่มีคุณูปการแก่บ้านเมืองมากมาย ที่สำคัญ พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่บริหารประเทศยาวนานถึง 8 ปี ทำให้บรรดาข้าราชการเกิดความรักและศรัทธา
โดยเฉพาะใน "แวดวงทหาร" ที่พูดจาประสาเดียวกัน และมีสีเลือดเดียวกัน ทำให้ พล.อ.เปรม ถือเป็น "ปูชนียบุคคลทางทหาร" ไปอีกฐานะหนึ่งด้วย
เมื่อ พล.อ.เปรม เป็นบุคคลที่กองทัพให้ "ความเคารพ" และ "ศรัทธา" ทำให้ "ผู้นำทางทหาร" ทุกยุคทุกสมัย ต่างหมุนเวียนนำคณะนายทหารระดับสูงเข้าอวยพร พล.อ.เปรม ในช่วงเทศกาลสำคัญเรื่อยมา คือ ประเพณีวันคล้ายวันเกิด 26 สิงหาคม ของทุกปี ประเพณีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และประเพณีเทศกาลสงกรานต์
ตลอดเทศกาลสำคัญที่ผ่านมา ผู้นำสูงสุดทางทหาร "ฝ่ายการเมือง" คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นผู้นำคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วมอวยพรในทุกพิธีอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการให้เกียรติและแสดงความเคารพต่อ พล.อ.เปรม ที่เปรียบเป็นบุคคลสำคัญของกองทัพ
โดยเฉพาะช่วงที่อยู่ใน "ยุคปฏิรูป" ที่ถนนบ้านสี่เสาคึกคักทุกเทศกาล ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี เคยนำคณะรัฐมนตรี เข้าขอโทษ พล.อ.เปรม ที่ปล่อยให้แกนนำ นปก. เคลื่อน "ม็อบบุกบ้านป๋า" รวมถึงเข้าอวยพรในเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์
โดย พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็นำผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าอวยพรช่วงเทศกาลดังกล่าวเช่นกัน
ทั้งนี้ จะว่าไปแล้ว ทุกยุคทุกสมัย บุคคลที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะนำผู้บัญชาการเหล่าทัพอวยพรทุกครั้ง มีเพียงสมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ก็มอบหมายให้ "บิ๊กกลด" พล.อ.วัฒนชัย วุฒิศิริ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แทนฝ่ายการเมือง นำคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพ ตบเท้าเข้าอวยพร พล.อ.เปรม แทน
ดังนั้น ในวาระที่มีการรดน้ำดำหัวขอพรจาก พล.อ.เปรม โดยที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิเสธที่จะเป็นคนเดินนำ ผบ.เหล่าทัพ ในฐานะเจ้ากระทรวงกลาโหม จึงถือเป็นครั้งแรกที่ไม่มี "ผู้นำฝ่ายการเมือง" เข้าร่วมพิธี
แต่ พล.อ.เปรม ยังคงเป็นบุคคลที่กองทัพให้ความเคารพเช่นเดิม และยังความพยายามคงประเพณี "รดน้ำดำหัว" เช่นนี้ไว้ แม้จะไม่ค่อยคึกคักเหมือนยุคสมัยที่ "ทหารเรืองอำนาจ" ก็ตาม
ที่มา หน้า 11 หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2551