นายจักรภพ กล่าวอีกว่า การปรับปรุงในเดือน เม.ย. นี้
เป็นเรื่องของโครงสร้างข่าวที่จะมีการเพิ่มจากเดิม 7 ชั่วโมง เป็น 9 ชั่งโมงครึ่งต่อวัน ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 2 ใน 3 ก็จะแบ่งเป็นรายการทั้งสั้นและระยะยาว โดยให้คนในช่อง 11 คิดเองและเปิดโอกาสให้หลายบริษัทเข้ามาดำเนินการ ส่วนในช่วงเฟส 2 เดือน เริ่มจากวันที่ 11 ก.ค. นี้ ก็จะมีการปรับปรุงเอ็นบีที เดือนครบ 100% ส่วนช่วงที่ 3 เดือน ส.ค. นี้ จะเป็นการปรับโครงสร้างด้านเทคนิค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ
รมต.สำนักนายกฯ ยังย้ำอีกว่า บริษัทนี้ก็ไม่ได้มาทำงานแทนคนช่อง 11 เราไม่มีการเอาข้าราชการเจ้าหน้าที่และพนักงานออกจากงานแม้แต่คนเดียว
ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในบริษัทดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผู้มีประสบการณ์ในการบริหารโทรทัศน์มาแล้วทุกช่อง ซึ่งการหาผู้ที่มีประสบการณ์แบบนี้หายาก ตนไม่ได้อยากได้มือสมัครเล่นเข้าไปบริหารเหมือนบางสถานีที่ทำเหมือนสามล้อถูกหวย ส่วนคลื่นวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ตนได้ให้นโยบายไปว่า ไม่ควรที่จะยึดความชำนาญในการให้สัมปทาน แต่ต้องยึดในความเป็นอาชีพการจัดรายการ
นายจักรภพ กล่าวต่อว่า เรื่อง อสมท นั้น ตนในฐานะ รมต.กำกับดูแล ก็ต้องลงไปดูแล
แม้ว่า อสมท จะเป็นบริษัทมหาชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่รัฐบาลก็ถือหุ้นใหญ่หากเกิดเหตุไม่ชอบมาพากล ตนในฐานะผู้ดูแลก็ต้องบอกสาธารณชนให้รับทราบ ที่ผ่านมา อสมท ก็ขาดทุนมากที่สุดในช่วง 7 ปี แม้จะออกมาแถลงข่าวแก้ว่าอยู่ในช่วงสถานการณ์พิเศษ แต่เหตุใดสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ซึ่งอยู่ในช่วงสถานการณ์พิเศษเขาถึงมีรายได้เพิ่มขึ้น ตรงนี้ต้องพูดให้กระจ่าง แต่คนที่รับไปดูแลคือคณะผู้บริหารและยืนยันว่าไม่ได้กดดันกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท
“ส่วนที่บอกว่าจะสร้างความเสียหายหรือไม่นั้น ต้องบอกว่ารัฐบาลเป็นผู้ที่หุ้นใหญ่ของ อสมท และยังได้รับฉันทานุมัติมาจากประชาชน ขอถามว่าจะไม่มีสิทธิบ่นหรือชี้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เลยใช่หรือไม่ หรือว่าท่านต้องการให้ อสมท เป็นเหมือนบริษัทเอ็นรอน ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานอันดับ 7 ของโลกที่ต้องล้มละลายไปเพราะมีการซุกหนี้ปิดไว้ไม่ให้มีการตรวจสอบ ซึ่งผมจะไม่ยอมทำแบบนั้นแน่ และขอย้ำว่าสิ่งที่ผมชี้นำนั้นเป็นไปในฐานะของผู้ถือหุ้น แต่การดำเนินไม่ได้ขึ้นอยู่ กับรัฐบาล แต่อยู่ที่มติของผู้ถือหุ้นเท่านั้น” นายจักรภพ กล่าว