นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าววานนี้ (25 มี.ค.)
กรณีคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าใช้มานานมากน้อยเพียงใด แต่อยากให้มองว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหาหรือไม่ ตนเห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่จำเป็นต้องแก้ทั้งฉบับ ควรแก้เฉพาะข้อบกพร่องเท่านั้น เบื้องต้นคง ได้แก่ ประเด็นยุบพรรคการเมือง ส่วนประเด็นอื่นนั้นยังไม่ขอพูด เพราะกลัวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ และไม่ขอแสดงความเห็นกรณีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลต้องการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์พรรคร่วมรัฐบาล
หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวต่อกรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า อะไรไม่เจอกับตัวเอง ก็ไม่รู้สึก ส่วนคดีเรื่องยุบพรรคนั้น เชื่อว่าคงใช้เวลา ไม่ได้สรุปกันอย่างรวดเร็ว เพราะเรื่องต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ด้าน นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ในฐานะได้รับมอบหมายจากพรรคชาติไทยให้ติดตามความคืบหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ใบแดง นางนันทนา สงฆ์ประชา และนายมณเฑียร สงฆ์ประชา ผู้สมัคร ส.ส.พรรคชาติไทย ว่า
ขณะนี้สมาชิกพรรคส่วนหนึ่งสับสน และมีการหยิบยกเข้าหารือในที่ประชุมพรรค ถึงข้อกฎหมายและขั้นตอน กกต.จะพิจารณายุบพรรคชาติไทย เนื่องจากที่ผ่านมา ยังมีความสับสน และไม่ชัดเจนว่า กกต.ใช้กฎหมายการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. หรือกฎหมายพรรคการเมือง ในการดำเนินการ พรรคเห็นว่า กกต.ควรจะต้องหยิบยกกรณี สำนวนยุบพรรคไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ในอดีต ขึ้นมาประกอบการพิจารณา
เหน็บอภิสิทธิ์ไม่เจอเองไม่รู้ บรรหารยันต้องแก้รธน.
ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
กล่าวกรณีวิปรัฐบาล มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 1 เดือน แก้ไขเฉพาะมาตรา 237 ว่า ไม่แน่ใจว่าแนวคิดนี้ตรงกับแนวคิดของรัฐบาลหรือไม่ เพราะนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เคยบอกว่า ต้องศึกษารัฐธรรมนูญให้ครบถ้วนทั้งฉบับ อีกทั้งประเด็นแก้ไขที่นายสมัครได้เอ่ยถึง ก็ไม่ใช่มาตรา 237 แต่เป็นการพูดถึงปัญหาของวุฒิสภา และการทำงานของรัฐบาลมากกว่า หากไปหยิบเฉพาะมาตรา 237 อาจเป็นจุดที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม เพราะเท่ากับเป็นการแก้กฎหมายสูงสุด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าผู้กระทำผิด เมื่อเข้ามามีอำนาจแล้ว สามารถแก้กฎหมาย เพื่อให้ตัวเองไม่ผิดได้ ซึ่งเป็นจุดที่นำไปสู่ความ
ที่จริงแล้วปัญหาที่กลัวๆ กันอยู่ ก็มีทางออกในหลาย ๆ ขั้นตอน จึงควรที่จะพิสูจน์ความจริงกันไป เช่นเดียวกับกรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ออกมาบอกว่า พร้อมที่จะสู้คดี หรือประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ กกต. ดังนั้น ประเด็นนี้ จึงเป็นเหมือนการแก้ไขปัญหาของตัวเองมากกว่าแก้ไขเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เคยเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ให้ศึกษารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และพิจารณาว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ก็ต้องทำให้อยู่ในกรอบนั้น อีกทั้งพรรคพลังประชาชนก็เคยเสนอญัตติให้มีกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาและแก้ไข พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเสนอให้มีองค์กรวิชาการเป็นเจ้าภาพ ตรงนี้พรรคไม่ขัดข้อง แต่ถ้าแก้ไขเพื่อตัวเอง พรรคไม่เห็นด้วย จึงต้องรอดูว่า จะมีการเสนอมาอย่างไร เพราะยังไม่แน่ใจว่า ทั้งหมดนี้เป็นข้อยุติของพรรคร่วมรัฐบาลแล้วหรือไม่
"อยากให้รัฐบาลคิดถึงบ้านเมือง เพราะถ้ามีกระทำความผิด และต่อมามีอำนาจ ก็มาแก้ไขกติกา ไม่ให้เป็นความผิด แล้วบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร เรื่องนี้จะเป็นตัวจุดชนวนความขัดแย้ง เพราะมีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ผมจึงอยากให้รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาของประชาชนมากกว่า ส่วนเรื่องนี้ปล่อยให้เดินไปตามกระบวนการไป หากเป็นเช่นนี้จะทำให้เกิดความเข้มแข็งในแง่ของนิติรัฐและการปกครองในระบบประชาธิปไตย ผมว่ารัฐบาลทำงานไปเถอะ ยังมีหลายเรื่องที่ประชาชนรอการแก้ไข ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาชายแดนภาคใต้ และยาเสพติด อยากให้เดินหน้าทำของพวกนี้จะดีกว่า" นายอภิสิทธิ์ กล่าว