น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวในรายการเมืองไทยสุดสัปดาห์ ทางคลื่นวิทยุ 98.0 เมกะเฮิรตซ์ ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ที่เกี่ยวกับการยุบพรรคว่า สะท้อนให้เห็นความนึกคิดของนักการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว และพรรคของตนเป็นใหญ่ การเขียนรัฐธรรมนูญเรื่องการยุบพรรค หากไม่มีการไปทำผิด ทำตามกติกา อ่านให้เข้าใจ รัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวเกรงกลัวการกระทำผิด หากนักการเมืองพรรคไหนไม่กระทำผิด ตนเห็นว่าไม่ควรจะเดือดร้อนเหมือน คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบร่วมกันในสิ่งที่กำหนดออกไป พรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรค มีอำนาจหน้าที่ไม่เหมือนสมาชิกพรรคทั่วไป กรรมการบริหารพรรคกำหนดทิศทาง กำหนดนโยบาย ส่งใครลงไม่ลงเลือกตั้งถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน หากบอกว่า การกระทำผิดเป็นความผิดเฉพาะตัวบุคคลก็ควรไปเป็น ส.ส.ธรรมดา เพราะหากมีการทุจริต ถูกจับได้ ก็ต้องเป็นไปตามกติกา หากเขียนกติกาแล้วไม่เคารพ บ้านเมืองก็อยู่กันไม่ได้
จวก “สมัคร” ทุเรศเปรียบประเทศกับพรรค
น.ต.ประสงค์กล่าวอีกว่า เป็นเวรกรรมที่บ้านเมืองนี้มีนักการเมืองประเภทนี้อยู่ ไม่ใช่เวรกรรมของประเทศ กรณียุบพรรคหากพรรคการเมืองไม่ดีพรรคทำความเสียหาย ไม่เคารพกฎเกณฑ์ ก็ยุบไปเสียได้ก็ดี พรรคที่ทำถูกต้องชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย ไปยุบได้อย่างไร เมื่อถามว่า กรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เปรียบการยุบพรรคการเมืองเหมือนเป็นการทำให้ประเทศนี้ตาย น.ต.ประสงค์กล่าวว่า เป็นการเปรียบเทียบที่ทุเรศเอาพรรคไปเปรียบเทียบกับประเทศได้อย่างไร พรรค การเมืองไม่ใช่ประเทศ เป็นกลุ่มการเมืองที่เข้ามาทำการเมือง อย่าไปยกตัวเสมอว่าพรรคของตัวเหมือนประเทศชาติ เป็นคำเปรียบเทียบที่ไม่ถูก
ตะเพิดนักเลือกตั้งอย่าเห็นแก่ตัว
เมื่อถามว่า การยุบพรรคการเมืองทำให้ความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างประเทศลดลง น.ต.ประสงค์กล่าวว่า การเมืองนิ่งหรือไม่นิ่งอยู่ที่นักการเมือง เพราะนักการเมืองมีหน้าที่ทำให้พรรคการเมืองโปร่งใส บริหารประเทศแบบธรรมาภิบาล เคารพ นิติธรรม นิติรัฐ โยงการเมืองไม่นิ่ง เศรษฐกิจไม่ดี เพราะพวกคุณไม่นิ่งกันเองจะอ้างอย่างนั้นไม่ได้ คาดไม่ถึงคนที่ก้าวมาถึงตำแหน่งอย่างนี้แล้ว จะนึกถึงตัวเองเป็นเรื่องใหญ่ จับเศรษฐกิจจับประเทศชาติมาเป็นตัวประกัน คนเหล่านี้หากไม่เปลี่ยนนิสัย พฤติกรรม ควรไปประกอบอาชีพอื่น หากเป็นการวางยาในรัฐธรรมนูญ ก็อยากถามว่าลงเลือกตั้งทำไมใช้รัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์ ในการเลือกตั้ง แต่พอเสร็จแล้วเห็นว่ามีสิ่งขัดขวางผลประโยชน์ในวันข้างหน้าก็จะรื้อทิ้ง ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง
ตอกหน้า “ประสงค์” ค้านแก้ รธน.
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกรณี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วยกับพรรคพลังประชาชนในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญว่าสิ่งที่นายกฯพูดไว้ว่าหากยุบ 3 พรรค ประเทศจะพังว่า ขอให้ น.ต.ประสงค์ใช้สมองคิดดูให้ดีว่าถ้ายุบ 3 พรรค แล้วการเมืองจะเดินหน้าไปอย่างไร ส่วนกรณีที่ น.ต. ประสงค์ระบุว่า เมื่อพรรคพลังประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ดีแล้วลงเลือกตั้งทำไมนั้น เป็นการตีความที่ใช้ไม่ได้ สาเหตุที่ต้องลงเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นวิธีเดียวที่ทำได้เพื่อเข้ามาจัดการกับมรดกบาปเผด็จการ ให้ประเทศเข้าสู่ ประชาธิปไตย เข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มันเลวร้าย และขจัดเผด็จการให้ออกจากการเมือง เพราะตอนนี้สิ่งเหล่านั้นยังรังควานการเมืองอยู่เสมอ วันนี้ถึงเวลากำจัดคนบาปและมรดกบาปออกไป ทั้งนี้ขอขอบคุณเผด็จการคนอื่นๆที่รู้ตัวและถอนตัวลดบทบาทไป แต่บางคนที่ยังไร้สำนึกเป็นซาตานรังควานประชาชน ยังลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคม มันต้องโดนสังคมจัดการลงโทษ
แนะ ส.ว.เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้สังคม
วันเดียวกัน ที่โรงแรมอมารี ออคิด รีสอร์ท แอน ทาวเวอร์พัทยา จ.ชลบุรี สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าได้จัดสัมมนาสมาชิกวุฒิสภา 2551 โดยมีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาและสมาชิกวุฒิสภาเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง นายประสพสุข ได้ปาฐกถาเรื่อง “สมาชิกวุฒิสภา สภาผู้ทรงคุณวุฒิ” ตอนหนึ่งว่า การทำหน้าที่ของวุฒิสภาตามเจตนารมณ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการไม่ทำหน้าที่หรือทำหน้าที่ที่ไม่ถูกต้องคือ ต้นเหตุของวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ดังนั้นวุฒิสภาชุดนี้ซึ่งเป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีที่มาจากสรรหาและการเลือกตั้ง โดยบทบาทและอำนาจหน้าที่ไม่ได้แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมามากนักแต่ปัญหาก็คือ ความไม่เชื่อมั่นของสังคมก็ยังมีอยู่ ดังนั้นวุฒิสภาจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างไร
เตือนวุฒิสภาอย่าซ้ำรอย “สภาทาส”
นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คนไทยมีความผิดหวังกับการทำงานของวุฒิสภาชุดที่ผ่านมาว่าตัวประธาน วุฒิสภามีความสามารถในการดำรงเกียรติภูมิไว้ได้หรือไม่ ประกอบกับสมาชิกวุฒิสภาขาดตัวแทนจากภาคเกษตรกร ภาคแรงงาน ทำให้ไม่สามารถทำงานให้กับภาคประชาชนได้ ถือเป็นความผิดหวังที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สื่อมวลชน จึงให้ฉายา “ส.ว.สภาทาส” ซึ่งความผิดหวังนี้จะทำให้เกิดความคาดหวังใหม่ว่าจะไม่เกิดซ้ำอีก ซึ่งวุฒิสภาชุดนี้เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2550 นี้ ที่มีที่มาจากการคัดสรรและเลือกตั้งที่ต้องการบุคคลจากหลายหลากอาชีพ แต่เริ่มต้นก็มีข่าวการหว่านเงินซื้อเสียงประธานวุฒิแล้วเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง จึงขอเตือนว่าอย่าทำอะไรผิดซ้ำซากอีก เพราะประชาชนจะไม่ให้อภัยแล้ว ส.ว.ต้องเข้มแข็ง มั่นคงในยามที่เผชิญกับปัญหาในฝ่ายตรงข้าม อย่าทำให้หมดศรัทธา ท้อแท้ ผิดหวัง เราได้รัฐบาลขี้เหร่ มาแล้ว อย่าให้เกิดความผิดหวังซ้ำสองกับ ส.ว.