เมื่อวันที่ 17 มี.ค. รศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ เครือข่ายนักวิชาการเฝ้าระวังปัญหาแอลกอฮอล์ กล่าวว่า
เครือข่ายนักวิชาการขอคัดค้านการแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกกรณี โดยเฉพาะการที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ระบุจะแก้มาตรา 30 ตามที่กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในนามสมาพันธ์ เพื่อช่วยภาครัฐลดปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ (สชอ.) ร้องขอ ซึ่งมาตรานี้มีสาระสำคัญ ห้ามการลด แลก แจก แถม ทั้งนี้ การลดราคามีผลต่อการเพิ่มยอดขายสูงสุด และทำให้คนไทยเป็นนักดื่มมากขึ้น ดื่มเยอะขึ้นด้วย อีกทั้งการลดคือการกระตุ้นให้ลอง
รศ.ดร.ปาริชาต กล่าวอีกว่า งานวิจัยทั่วโลกยืนยันว่าผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 56.4% จะไม่อยากซื้อ หรือไม่อยากดื่มหากราคาแพง
ข้อมูลฝ่ายธุรกิจสุราชี้ชัดว่าการลดราคา เพิ่มยอดขายได้ 120% การแถมของที่ระลึก เพิ่มยอดขายได้ 80% จากช่วงปกติ การแถมหรือการแลกบริษัทเหล้าตั้งใจเจาะกลุ่มวัยรุ่นอยู่แล้ว มักแถมหรือให้แลกในสิ่งที่ตรงใจเด็ก เช่น บัตรคอนเสิร์ต บัตรดูกีฬา สิ่งเหล่านี้คือการยั่วยุให้เยาวชนอยากซื้อ อยากลองดื่ม และกระตุ้นผู้ที่ดื่มอยู่แล้วให้ดื่มมากขึ้น
"การแจก คือ กลยุทธ์เพิ่มนักดื่มหน้าใหม่โดยตรง ชวนผู้ไม่เคยดื่มมาทดลอง เหมือนกับผู้ขายยาเสพติดอยากให้เด็กลองยาโดยไม่ต้องจ่ายเงิน ติดใจแล้วก็ต้องเสียเงินมาซื้อเอง ธุรกิจเหล้าควรรับผิดชอบสังคม เก็บเงินทำโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ไปทำการตลาดเพื่อสังคม อย่ากระตุ้นให้เด็กต้องทำงานให้ได้เงินมาซื้อเหล้าเลย นับครั้งไม่ถ้วนที่เห็นข่าวลูก ตีพ่อ ตีแม่ วัยรุ่นขโมยของหาเงินไปซื้อเหล้า เด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ 40% ทำผิดหลังดื่มเหล้าใน 5 ช.ม. ผู้ป่วยเอดส์วัดพระบาทน้ำพุกว่า 70% ติดเอดส์ เพราะมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัยหลังดื่มเหล้า รัฐบาลจะส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ลูกหลานไทย ตกอยู่ในวังวนเช่นนี้ และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือ" รศ.ดร.ปาริชาต กล่าว
นักวิชาการล่าชื่อต้านสมัครแก้กม.เหล้า
รศ.ดร.ปาริชาต กล่าวอีกว่า มาตรา 30 ยังห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเครื่องอัตโนมัติ
เพราะจะมีเด็กและเยาวชนแห่ซื้อน้ำเมาผ่านตู้อัตโนมัติจำนวนมหาศาล เพราะเครื่องตั้งอยู่ทุกแห่ง ยากต่อการคุมเวลาจำหน่าย และอายุผู้ซื้อ ซึ่งมาตรการต่างๆ เหมือนกับกฎหมายบุหรี่ที่บังคับใช้มากว่า 15 ปี และได้ผลต่อการลดจำนวนผู้สูบ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน รัฐบาลต้องดำเนินการทันที เครือข่ายนักวิชาการจะเดินหน้ารวบรวมรายชื่อนักวิชาการที่คัดค้านการแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อแสดงให้รัฐบาลเห็นถึงพลังของภาควิชาการ ที่ต้องการจะปกป้องสังคม และวันที่ 18 มี.ค. นี้จะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นจดหมายคัดค้านต่อนายกฯ
ด้านนางวิมลวรรณ อุดมพร ประธานสมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดการบริโภคแอลกอฮอล์แห่งชาติ (สชอ.) กล่าวว่า
ขณะนี้สมาพันธ์ สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมโรงแรม รวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อจะนำเสนอนายสมัครอีกครั้งหลังจากเดินทางไปชี้แจงมาแล้วในครั้งก่อน จึงอยากให้เกิดความชัดเจนและมีวิธีการควบคุมไปในทางเดียวกัน ส่วนการห้ามขายเวลา 14.00-17.00 น. ตามข้อบังคับกฎหมายเก่า ผู้ประกอบการของสมาพันธ์ขอให้พิจารณาทบทวนกฎหมายนี้ สำหรับการจำหน่ายในโรงแรมและพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติ ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากกับบรรยากาศการท่องเที่ยว สมาพันธ์ไม่ได้ขอให้แก้กฎหมายทั้งฉบับ เพราะเชื่อว่าจะช่วยควบคุม และมีประโยชน์ต่อเยาวชน แต่เป็นการขอความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปในทางเดียวกัน เพราะเนื้อหาของกฎหมายกว้างมาก ทำให้การปฏิบัตินั้นไม่สามารถทำได้จริง
นางปวรวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า
วันที่ 24 มี.ค. นี้จะมีการประชุมตัวแทนชมรมภัตตาคารไทยทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจแนวทางของกฎหมาย รวมถึงข้อเสนอที่สมาคมและสมาพันธ์ส่งให้นายกฯ พิจารณา เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันในการดำเนินกิจการต่อไป หลังจากนั้นวันที่ 21 เม.ย. จะเชิญนายสมัคร พร้อมทั้งตัวแทนจาก 7 กระทรวง ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการอาหารปลอดภัย เพื่อหาทางยกระดับมาตรฐานจริยธรรม และพัฒนาคุณภาพของผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาทั้งระบบ และช่วยแก้ปัญหาเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้