แม้ว ดันประชานิยมเปิดกองทุนกู้ยืม - ย้อน มหา-มันเป็นเช่นนั้นเอง
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 20 กุมภาพันธ์ 2549 12:25 น.
แม้ว ยกคำสอน พุทธทาส เหน็บ มหาจำลอง ปถตา มันเป็นเช่นนั้นเอง โบ้ยพูดกันไปเองไม่เคยพูดเรื่องยุบสภาสักคำ เตรียมดันโครงการประชานิยม เรียนก่อนผ่อนทีหลัง หวังเปิดโอกาสการศึกษาให้เด็กไทยและแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง พร้อมทุ่มงบยกระดับการศึกษาไทยสู่ระดับโลก หลังพบมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับโลกแค่ จุฬาฯ ที่เดียว ย้ำเปลี่ยนแปลงในวันนี้เพื่อสิ่งที่ดีของลูกหลานในอนาคต
วันนี้ (20 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.30 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานเปิดงานโครงการกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต ถึงกรณีที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม ออกมาร่วมเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกว่า พระพุทธทาสภิกขุ ท่านพูดว่า ตถตา มันเป็นเช่นนั้นเอง
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกระแสข่าวการยุบสภา นายกรัฐมนตรีไม่ตอบเพียงแต่อมยิ้ม เมื่อถามว่ามีการคาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤษภาคมนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า พวกคุณคิดกันเอง พูดกันเอง ผมยังไม่ได้พูดสักคำ
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานพิธีเปิดโครงการกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งว่าที่ผ่านมาการที่ฝ่ายการเมืองได้สัญญากับประชาชนว่าจะมีโครงการเรียนก่อนผ่อนทีหลัง ปรากฏว่าทุกเวทีที่ปราศรัยประชาชนชอบมาก เพราะมีความรู้สึกว่าลูกตัวเองมีศักยภาพแต่ตัวเองไม่มีศักยภาพที่จะส่งลูกเรียน คิดว่าทำอย่างไรจะให้ลูกตัวเองได้เรียนสูงๆ คนบางคนมีรายได้น้อยถึงขนาดไปกู้หนี้ยืมสินส่งลูกเรียนทุกอย่าง จนลูกเรียนจบเป็นหมอ เป็นวิศวกร แต่หนี้สินยังเป็นภาระของพ่อแม่ที่มีรายได้น้อย แต่เด็กบางคนที่พ่อแม่มีรายได้น้อย ก็เรียนหนังสือน้อย อนาคตก็มีรายได้น้อย และมีส่วนสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศได้น้อย แต่ถ้าเด็กคนเดียวกันเรียนหนังสือมาก ก็จะมีรายได้มากและมีส่วนสร้างเศรษฐกิจได้มากเช่นเดียวกัน คนคนเดียวกันสามารถเพิ่มมูลค่าได้หากเรามีสะพานให้เขา ดึงภาระของผู้ปกครองมาเป็นภาระของภาครัฐ
หากภาครัฐไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจให้ดีได้ เมื่อคนเหล่านี้เกิดมาแล้วก็ไม่มีงานทำ ต้องถือว่าเป็นความผิด ความบกพร่องของภาครัฐ ฉะนั้นหนี้สินที่เขาใช้ไม่ได้ก็รัฐก็ต้องรับแทน เพราะว่ารัฐไม่สามารถขยายเศรษฐกิจให้คนเหล่านี้จบแล้วมีงานทำได้ แต่ถ้ารัฐสามารถขยายเศรษฐกิจให้คนเหล่านี้มีงานทำได้ เขาก็จะนำเงินกลับมาใช้คืนเพื่อพอกพูนกองทุนให้คนรุ่นหลังได้เรียนหนังสือต่อ ความตั้งใจในการทำโครงการ กรอ.นี้ ตนพยายามทำให้เห็นว่าเป็นโครงการที่ได้รับประโยชน์ 4 ทาง คือ 1.ทำให้เด็กไทยมีโอกาสเรียนได้ตามศักยภาพ 2.แบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง 3.สถาบันการศึกษาจะปรับประสิทธิภาพการเรียนการสอน และ 4.เป็นการใช้อุปสงค์เป็นตัวกำหนดการศึกษาได้ นายกรัฐมนตรี กล่าว
พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับอธิการบดีมหาวิทยาลัย 138 แห่ง พบความจริงว่ารัฐลงทุนเพื่อการศึกษาน้อยไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ การที่เราบอกว่าจะเป็นสังคมแห่งฐานความรู้นั้น ตรงนี้เราเตรียมตัวเพื่อการศึกษาน้อยไป เรามีแต่ปริมาณ แต่คุณภาพไม่พอ ฉะนั้น ต้องเติมเงินเพื่อให้ไปทั้งปริมาณและคุณภาพพร้อมๆ กัน ช่องทาง กรอ.นอกจากเป็นการให้โอกาสเด็กนักเรียนแล้วยังเป็นการสร้างเม็ดเงินเพิ่มเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกทางหนึ่ง เพราะเวลานี้สถาบันอุดมศึกษาของไทยที่มี 138 แห่ง ติดอันดับ 1 ใน 200 มหาวิทยาลัยของโลกเพียงมหาวิทยาลัยเดียว คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อยู่อันดับที่ 121 ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยกสถาบันการศึกษาให้ขึ้นมาในระดับโลกมายิ่งขึ้น
ผมเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างในประเทศนี้ แต่เปลี่ยนเพื่อให้เกิดผลดีกับชาติ วันนี้มีบางคนอาจจะไม่เข้าใจวิธีเปลี่ยนของผมในบางเรื่อง แต่มั่นใจว่าวันหน้าเขาจะเข้าใจ เพราะสิ่งที่ทำทั้งหมดนี้เพื่อลูกหลาน และเพื่ออนาคตของประเทศเราเอง นายกรัฐมนตรี กล่าว และว่าการดำเนินการครั้งแรกอาจจะติดขัดบ้าง แต่หวังว่าความขลุกขลักจะนำไปสู่การแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น เรื่องนี้จะคล้ายกับเรื่อง 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งคนส่วนใหญ่จะมีความสุขมาก แต่สำหรับคนที่ไม่เดือนร้อนอาจจะรู้สึกเฉยๆ และบางคนอาจจะไม่เห็นด้วย หากไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง มองสังคมในภาพรวม จะเห็นว่าโครงการ กรอ.กับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคจะคล้ายกัน ในปีแรกๆ อาจจะติดขัดเรื่องเงินไม่พอ ติดขัดเรื่องธุรการ แต่จะมีการปรับปรุงเพื่อให้ดียิ่งขึ้น