ศาลกรีดฝ่ายการเมืองไม่ได้ล้ำเส้น! แต่ทำเพื่อประชาชน 65 ล้านคน

ศาลกรีดฝ่ายการเมืองไม่ได้ล้ำเส้น! แต่ทำเพื่อประชาชน 65 ล้านคน

โดย ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์ 15 พฤษภาคม 2549 18:52 น.

ประมุข 3 ศาล ประชุมหาทางออกให้บ้านเมืองอีกครั้งพรุ่งนี้ (16 พ.ค.) หลัง กกต.ดื้อแพ่งกำหนดเลือกตั้ง 22 ต.ค.ขณะที่เลขาธิการประธานศาลฎีกา สอน ส.ส.ทรท. บอกไม่เกิดแน่วิกฤตตุลาการ แต่ศาลกำลังช่วยเข็นรถที่กำลังติดหล่ม ด้าน เลขาฯวิรัช กรีดฝ่ายการเมือง บอก ไม่ได้ล้ำเส้น แต่ทำเพื่อประชาชน 65 ล้านคน ไม่ใช่แค่ 19 ล้านเสียง ขณะที่ ปธ.ศาลอุทธรณ์ภาค 1-9 ประสานเสียง ไม่ตกเป็นเครื่องมือ กกต.จัดเลือกตั้งรอบใหม่ ยันเห็นชอบ 3 ศาลหารืออีกรอบ


วันนี้ (15 พ.ค.) ที่ศาลฎีกา สนามหลวง นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (16 พ.ค.) เวลา 13.00 น.นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นัดประชุมหารือร่วมกับ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด และ นายผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง หลังจากที่ กกต.ประชุมร่วมกับรัฐบาล และพรรคการเมืองต่างๆ กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 22 ตุลาคม และกระแสข่าวที่ทราบว่า มี กกต.หนึ่งคนในจำนวนสี่คนได้ยื่นใบลาออก ซึ่งประธานทั้งสามศาล จำเป็นต้องประชุมร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ส่วนกรณีที่ นายวัฒนา เซ่งไพเราะ อดีต ส.ส.กทม.พรรคไทยรักไทย ออกมาให้สัมภาษณ์ขอให้ผู้พิพากษาอย่าออกมาเคลื่อนไหว เพราะจะทำให้เกิดวิกฤตตุลาการ นั้น เลขาธิการประธานศาลฎีกา กล่าวว่า เป็นเรื่องของความเห็นที่แตกต่างกัน ศาลคงจะไม่มีการตอบโต้ แต่ที่ทั้งสามศาลปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ ก็เพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมือง หรือกำลังเข็นรถที่กำลังติดหล่มให้สามารถวิ่งไปได้อีกครั้ง พร้อมกับคิดหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรไม่ให้รถนั้นวิ่งถอยหลังกลับมาติดหล่มเท่านั้น ศาลไม่ได้คิดจะทำอะไรก้าวก่ายมากมายไปกว่านี้เลย

ด้าน นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา กล่าวว่า สถาบันศาลถือเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ มีหน้าที่รักษารัฐธรรมนูญ ซึ่งนอกจากการประสิทธิประสาทความยุติธรรมในสังคมแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะรักษาบ้านเมืองด้วย เป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่การลำเส้นฝ่ายการเมือง และก่อนที่ผู้พิพากษา หรือตุลาการเข้ารับหน้าที่ ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ ม.252 ด้วยถ้อยคำต่อไปนี้

ข้าพุทธเจ้า ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธย ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุข แห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ

นายวิรัช กล่าวย้ำอีกว่า เวลานี้ศาลไม่ได้ทำเพื่อประชาชน 19 ล้านเสียง ศาลไม่ได้ทำเพื่อประชาชน 16 ล้านเสียง แต่ศาลทำเพื่อประชาชน 65 ล้านคน เข้าใจไหม ศาลทำเพื่อประชาชนทั้งประเทศ ไม่ได้ทำเพื่อใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ก็ไม่เป็นไร แม้เป็นความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ศาลเข้าใจความรู้สึกของฝ่ายการเมือง

นายวิรัช กล่าวถึงการประชุม 3 ประธานศาลในวันพรุ่งนี้ (16 พ.ค.) ว่า ยังไม่มีการกำหนดข้อหารือ แต่คาดว่าในที่ประชุมจะนำเรื่องที่ กกต.กำหนดวันที่ 22 ตุลาคม ให้เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปครั้งใหม่ และข่าวที่มี กกต.ลาออก เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกันของ 3 ศาลต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเคลื่อนไหวของศาลฎีกานั้น เวลา 09.00 น.นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา ได้เชิญประธานศาลอุทธรณ์ และประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 19 เข้าประชุม เพื่อแจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์แก้ปัญหาการเลือกตั้งของศาลฎีกาที่ร่วมกับศาลปกครองสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญ

โดย นายวิรัช กล่าวว่า เป็นการแจ้งให้ประธานศาลอุทธรณ์และประธานศาลอุทธรณ์ภาค 19 ทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ที่การหารือร่วมของ 3 ศาล ที่มีมติร่วมกันขอให้ กกต.เสียสละเพื่อบ้านเมือง ซึ่งประธานศาลอุทธรณ์และประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1-9 ได้แสดงความคิดเห็นว่ามีความเห็นชอบต่อมติสามศาลดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อช่วยแก้ปัญหาบ้านเมือง ซึ่งที่ประชุมอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ทั้งท่าที กกต.ด้วย แต่ยังไม่ได้พูดถึงว่าหาก กกต.ไม่เสียสละแล้วจะทำอย่างไร คงต้องเป็นหน้าที่ของประธานสามศาลจะหารือกันต่อไป

ขณะที่ นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งและคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.)ประจำศาลชั้นต้น กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดจัดการเลือกตั้งและอาจอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 145(2) ขอให้ศาลช่วยเหลือว่า แนวทางที่ ก.ต.จะพิจารณาว่าจะส่งผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ศาลไปร่วมกับ กกต.จัดการเลือกตั้งตามมาตรา 145(2) หรือไม่จะมีหลักอยู่ว่า กกต.จะมาขอใครบ้างและไปทำหน้าที่อะไร หากขอบุคคลไปทำหน้าที่รับรองผลการเลือกตั้งโดยศาลไม่มีอำนาจโดยตรง ก.ต.อาจจะมีมติไม่อนุญาต

"ดังนั้น ถ้ามีการขอผู้พิพากษามาแนวทางที่สำคัญที่ ก.ต.ต้องพิจารณา คือ หนึ่งการเข้าไปทำหน้าที่ของศาลต้องไม่ไปเพื่อรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งตัวเองไม่มีอำนาจโดยตรง สองต้องไม่ไปทำหน้าที่ให้คุณให้โทษ เนื่องจากศาลจะต้องเป็นผู้ตัดสินสุดท้ายถ้ามีปัญหาคดีเลือกตั้งเกิดขึ้น ก.ต.ศาลชั้นต้นกล่าว

แหล่งข่าวจากศาลฎีกา เปิดเผยว่า กรณีที่ กกต.อาจใช้มาตรา 145(2) ขอให้ศาลช่วยออกใบเหลือง-ใบแดง ทางศาลยุติธรรมคงจะไม่ส่งผู้พิพากษาไป เพราะถ้าให้ศาลเข้าไปอาจมีปัญหากฎหมายที่กำหนดให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำอยู่ และจะมีปัญหาอีกว่าให้ศาลออกใบเหลือง-ใบแดงแทน กกต.แล้วต้องเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาจะกลายเป็นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบศาลซึ่งไม่เป็นการสมควร และที่จะเป็นปัญหามากที่สุด คือ คดีเลือกตั้งจะต้องมาสู่ศาลเมื่อศาลลงไปชี้ขาดแต่แรกจะส่งผลกระทบเมื่อคดีมาถึงศาล

สิ่งที่ผู้พิพากษาเป็นห่วงมากที่สุด คือ การไปเป็นเครื่องมือรับรองการใช้อำนาจจัดการเลือกตั้งซึ่ง กกต.มีอำนาจเต็มแต่ฝ่ายเดียว เมื่อถึงเวลาทำงานร่วมกันจริงๆ ศาลจะไม่มีสิทธิอะไร เพราะไม่มีอำนาจอะไรเลยถ้าเห็นความไม่ชอบก็จะมีปัญหาการทำงานร่วมกับกกต.เกิดขึ้นอีก แหล่งข่าวศาลฎีกา กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์