นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า
คงไม่มีอะไรฝากถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ เพราะในช่วงที่ผ่านมาได้วางพื้นฐานงานด้านพลังงานแล้ว อย่างไรก็ตาม กรณีการแทรกแซงราคาน้ำมัน คาดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่คงจะไม่ดำเนินการ เพราะมีตัวอย่างที่ชัดเจนแล้วว่าการแทรกแซงไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร โดยการแทรกแซงในสมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลมีวงเงินแทรกแซงกว่า 90,000 ล้านบาท ในที่สุดประชาชนก็เป็นผู้ใช้หนี้ และการบริโภคน้ำมันสูงกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่งานด้านไฟฟ้าน่าเป็นห่วงว่าหากคนไทยยังไม่ยอมรับทางเลือกพลังงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็คงจะต้องประสบปัญหาการจัดหาพลังงานก่อสร้างไฟฟ้าในอนาคต เพราะหากยังหวังพึ่งการใช้ก๊าซธรรมชาติมาเป็นเชื้อเพลิงเป็นหลัก
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า
ล่าสุดการเจรจานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) คาดว่าจะสามารถนำเข้ามาได้หลังปี 2554 เป็นต้นไป แต่ราคาจะต้องสูง เพราะเป็นราคาในตลาดจร โดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จะมีการลงนามข้อตกลงเบื้องต้นการรับซื้อก๊าซแอลเอ็นจีกับกาตาร์ แต่ได้ปริมาณเพียง 900,000 ตัน และราคาเป็นการอ้างอิงตลาดญี่ปุ่น (เจซีซี) ซึ่งมีราคาสูงประมาณ 9-10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู สูงกว่าในไทยที่เป็นราคาเฉลี่ยระหว่างก๊าซในอ่าวไทยและพม่าที่ราคา 6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู เนื่องจากปริมาณแอลเอ็นจีในตลาดโลกหายากเช่นกัน และจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าในที่สุด
นอกจานี้ นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า
หาก กฟผ.ไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ตามแผน 2,800 เมกะวัตต์ ก็คงต้องรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเกาะกงของกัมพูชา ซึ่งต้นทุนจะสูงกว่าการซื้อในประเทศและการจ้างงาน รวมทั้งด้านอื่นๆ ในประเทศก็จะสูญเสียไป แต่ไม่ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าในกัมพูชาหรือไทย เชื้อเพลิงถ่านหินก็จะต้องนำเข้าจากประเทศอื่นทั้งสิ้น