ศาลยกคำร้องเลือกตั้งโมฆะอีก2คดี


เวลา 15.00 น. วันที่ 21 ม.ค. ที่ศาลฎีกา สนามหลวง ศาลมีคำสั่งคดีเลือกตั้ง หมายเลขดำที่ ลต.5/2551 ที่นายกฤษศักดา วัฒนพงษ์ นักกฎหมายในฐานะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง นายสุรศักดิ์ หมื่นนาอาม ผู้สมัครส.ส.เขต 7 กทม. พรรคมัชฌิมาธิปไตย นายสราวุท ทองเพ็ญ ผู้สมัครส.ส.ระบบสัดส่วน กลุ่มที่ 3 พรรคความหวังใหม่ พร้อมกับพวกรวม 8 คน ร้องคัดค้านกกต.ทั้งคณะจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าส.ส. ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้ง วันที่ 15-16 ธ.ค.2550 โดยมิชอบ

ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ในการควบคุม ตรวจสอบความจำเป็นในการขอใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าตามขั้นตอน มาตรา 95 ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่ง 1.ขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้ง วันที่ 15-16 ธ.ค.2550 ทั่วประเทศ 2.ขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งส.ส.วันที่ 23 ธ.ค.2550 และ 3.ขอให้เพิกถอนการรับรองส.ส.ที่กกต.ได้รับรองการเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค.2550 และหากยังไม่ได้รับรองขอให้ระงับหรือยกเลิกการรับรองด้วย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีที่ผู้ร้องอ้างว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งดำเนินไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ มาตรา 114 บัญญัติให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองซึ่งมีสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่ง มีสิทธิ์ยื่นคัดค้านต่อกกต.ตามระเบียบที่กกต.กำหนด และเมื่อกกต.ได้รับคำคัดค้านการเลือกตั้งให้สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงโดยพลัน ซึ่งในขั้นตอนนี้บทบัญญัติแห่งกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย แต่เป็นอำนาจของกกต. ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนการเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 15-16 ธ.ค.2550 ทั่วประเทศ และเพิกถอนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธ.ค.2550 จึงมีคำสั่งยกคำร้อง

ต่อมาเวลา 16.00 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งคดี หมายเลขดำที่ ลต./2550 ระหว่างนายเทพพนม ศิริวิทยารักษ์ ผู้สมัครส.ส.เขต 2 สุรินทร์ พรรคความหวังใหม่ ผู้ร้อง กับกกต.ทั้งคณะ ผู้คัดค้าน ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่ากกต.จัดการเลือกตั้งล่วงหน้าโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 95 ของพ.ร.บ.เลือกตั้งฯ และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 236(1) เกี่ยวกับการหาเสียงและความเสมอภาคในการหาเสียง จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค.2550 ด้วย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีที่ผู้ร้องคัดค้านการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง กฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้ร้องต่อกกต. ซึ่งในขั้นตอนนี้กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย แต่เป็นอำนาจของกกต.โดยเฉพาะ ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนการเลือกตั้ง จึงมีคำสั่งยกคำร้อง

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์