ทั้งนี้ ศาลได้ว่าคำพิพากษาว่า
นายไชยวัฒน์ ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการส่งผู้สมัครในนามพรรคพลังประชาชนเป็นโมฆะ เพราะพรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทย ที่ผู้ฟ้องเห็นว่านายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นตัวแทนของอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ดังนั้น การลงนามส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งของนายสมัครจึงเป็นโมฆะ ไม่มีสิทธิส่ง ส.ส.ในนามพรรคพลังประชาชน ทั้งระบบสัดส่วนและระบบเขตนั้น ศาลเห็นว่าเรื่องนอมินีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นคดีพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จึงให้ยกคำร้อง
ยกคำร้องให้เพิกถอนเลือกตั้งล่วงหน้า
ส่วนเรื่องที่ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลฯเพิกถอนการเลือกตั้งดังกล่าว ตลอดจนเพิกถอนการนับคะแนนเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะมีการนำคะแนนจากการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมานับรวมกับการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค.ด้วยนั้น ศาลเห็นว่าผู้ร้องไม่มีอำนาจในการร้อง เนื่องจากมาร้องภายหลังมีการเลือกตั้งไปแล้ว
สรุปศาลยกคำร้องทุกประเด็น
ส่วนเรื่องที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่า การแจกซีดีให้แก่ประชาชนเป็นการผิดกฎหมาย (เช่น กรณีซีดี-วีซีดีทักษิณ) และห้าม กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งทั่วประเทศ หรือเพิกถอนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งของผู้สมัครพรรคพลังประชาชน คดีนี้ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง ในวันที่ 28 ธ.ค. 2550 โดยได้ยื่นฟ้อง กกต.ทั้งคณะ รวมทั้งพรรคพลังประชาชน นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน และผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 3 อีก 2 คน คือ นายสนอง เทพอักษรณรงค์ และประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ทั้งนี้ ศาลเห็นว่าไม่ใช่อำนาจของนายไชยวัฒน์ที่จะเป็นผู้ร้องเรื่องดังกล่าว แต่เป็นอำนาจของ กกต.ที่จะวินิจฉัย และไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง
ส่วนกรณีนายสราวุธ ทองเพ็ญ โฆษกพรรคความหวังใหม่ และอดีตผู้สมัคร ส.ส.แบบสัดส่วน ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นโมฆะ ศาลให้ยกฟ้องเช่นกัน