เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 9 ม.ค. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์ กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบกรณีการซื้อขายหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายสัก กอแสงเรือง โฆษกคตส. เดินทางเข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย โดยใช้เวลาหารือประมาณ 30 นาที จากนั้นได้เดินทางกลับโดยปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ทั้งนี้ นายวิโรจน์ค่อนข้างมีสีหน้าที่เคร่งเครียด
“สัก” เผยรายงานผลสอบคดี “หญิงอ้อ”
ด้านนายสัก กอแสงเรือง โฆษกคตส. ให้สัมภาษณ์ที่สำนักงาน คตส.ภายหลังเดินทางกลับจากทำเนียบว่า ตนและนายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์ เข้าพบ พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการนายกฯ ใช้เวลาไม่ถึง 30 นาที ไม่ได้พบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด โดยเป็นการรายงานความคืบหน้าการทำงานของ คตส. หลังจากที่ คตส.ได้รับการประสานมาเมื่อเย็นวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา โดย พล.อ.พงษ์เทพได้ประสานขอรายงานการทำงานของ คตส. คตส.ได้มอบรายงานจำนวน 2 ฉบับคือ สมุดปกเหลืองสรุปผลการทำงานของ คตส.ครบรอบ 6 เดือน และ 1 ปี เมื่อถามว่า เหตุใดจึงมีการเรียกขอข้อมูลในช่วงคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางกลับมาต่อสู้คดี นายสักตอบว่า รัฐบาลอาจต้องการความชัดเจนว่าขณะนี้ มีคดีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับคุณหญิงพจมาน โดยได้ รายงานว่า มีคดีการซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก และคดีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน แต่ไม่ทราบว่า พล.อ.พงษ์เทพต้องการข้อมูลส่วนนี้ไปดำเนินการอะไร และไม่ได้มีการย้ำเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินคดี ทั้งนี้ ขณะนี้การทำงานของ คตส.ไม่มีปัญหาอะไร จึงไม่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล
นายกฯพอใจผลงาน คตส.สอบทุจริต
ต่อมาเมื่อเวลา 13.00 น. ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กรรมคตส. เดินทางมาเข้าพบและหารือว่า กรรมการ คตส.ได้มาพบกับ พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นเวลาพอดีที่ตนจะเดินลงมาจากห้องทำงานก็เลยพบกัน ได้คุยถึงเรื่องที่ คตส.ได้ดำเนินเรื่องต่างๆที่ส่งผ่านไปยังกระบวนการยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด ส่วนความคืบหน้าคดีต่างๆของ คตส.นั้น ไม่ได้ถามในรายละเอียด แต่ส่วนใหญ่แล้วกรรมการ คตส.ระบุว่า ได้เดินหน้าไปในสภาพที่เป็นที่น่าพอใจ
ชี้ช่องขอเคลียร์ “ป๋า” เป็นสิ่งที่ดี
เมื่อถามอีกว่า คุณหญิงพจมานตัดสินใจกลับมา มีการมองว่าได้เคลียร์กันในบางอย่างระดับหนึ่งแล้ว พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ไม่ทราบว่าได้มีการตกลงอะไรกันอย่างไร อย่างที่เคยถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีการโทรศัพท์ถึงตนหรือไม่นั้น ไม่มี เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องการเข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เพื่อปรับความเข้าใจ มองอย่างไร พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า “ไม่ทราบ เพราะต้องอยู่ที่การตัดสินใจของประธานองคมนตรีเอง โอกาสอย่างนั้นเป็นสิ่งที่ประธานองคมนตรีคงจะตัดสินใจเอง ผมไม่สามารถไปคาดเดา เพราะว่าผมก็ทำงานกับท่านมานาน และบอกได้ว่าไปเดาความคิดของท่านได้ยากมาก” เมื่อถามว่า แสดงว่าคนที่จะสามารถคุยด้วยแล้วทำให้เกิดความสมานฉันท์ต้องเป็นระดับสูงอย่างประธานองคมนตรีหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ ตอบว่า “ผมไม่ทราบจริงว่ามีข่าวมาอย่างไร และจะเป็นอย่างไร อย่างที่ผมได้ตอบไปก็ตอบได้เฉพาะตัวของผมเองว่าผมไม่ได้รับการติดต่อไม่ได้มีการโทรศัพท์มาพูดคุยกัน” เมื่อถามว่า เป็นการดีหรือไม่ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้พูดคุยทำความเข้าใจกัน พล.อ.สุรยุทธ์ ตอบว่า ในส่วนที่เป็นภาพรวมคิดว่าการพูดคุยกันเป็นสิ่งที่ดี เป็นส่วนที่จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆได้
ปัดไม่ทราบมือมืดสกัดตั้งรัฐบาล
เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรคพลังประชาชน กังวลว่ามีมือที่มองไม่เห็นมาสกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาล ในฐานะที่เป็นรัฐบาลยืนยันได้หรือไม่ว่าจะเป็นไปตามครรลอง พล.อ.สุรยุทธ์ ตอบว่า ไม่ทราบ เพราะเรื่องการจัดตั้งไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาล เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะพูดคุยกัน ตนไม่ได้มีส่วนในการที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีมือหรือไม่มีมือ ก็ไม่ทราบ
กำชับ ผวจ.คุมม็อบป่วนเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวในการประชุมกระทรวงมหาดไทยตอนหนึ่ง ถึงกรณีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ในบางจังหวัด หลัง กกต.ให้ใบเหลือง-ใบแดงว่า หน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องดูแลความสงบเรียบร้อยภายในจังหวัด ควบคู่กับการดูแลการชุมนุม โดย ผวจ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องช่วยกันชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนตามชุมชนต่างๆ ไม่ให้เกิดความวุ่นวาย อย่างไรการชุมนุมถือว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้ ถ้าเป็นการแสดงออกโดยไม่ผิดกฎหมาย กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข ถ้ายึดหลักความซื่อตรง มีคุณธรรมเป็นแนวทางแล้ว ถือว่าได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ แต่อย่าให้เกิดปัญหาเหมือนที่มีการเป็นห่วงเรื่องการเข้าเกียร์ว่าง เพราะข้าราชการจำเป็นต้องดูแลประชาชน 24 ชั่วโมง ส่วนการทำหน้าที่ของรัฐบาลในช่วงที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้น จะยึดถือเรื่องงานที่รับผิดชอบ โดยจะดำเนินการตามความถูกต้องและเป็นธรรม