กกต.แถลงผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

บรรยากาศการเมืองอยู่ระหว่างจับขั้วตั้งรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช จะได้เป็นนายกฯคนที่ 25 ของประเทศไทยหรือไม่ ต้องตามติดกันนาทีต่อนาที

ที่แน่นอนในระดับหนึ่งแต่ยังไม่ถึงกับนิ่งสนิท คือผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ปรากฏออกมาว่าพรรคพลังประชาชน ได้รับเลือกเข้ามาเป็นพรรคอันดับที่ 1

ตามด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคประชาราช เรียงตามลำดับ

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แถลงผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ระบุว่า

ขณะนี้กกต.ได้รับแจ้งผลคะแนนจากทุกจังหวัดแล้ว พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมี 7 พรรค ประกอบด้วยพรรคพลังประชาชน ได้ ส.ส.แบบสัดส่วน 34 คน ส.ส.แบบแบ่งเขต 199 คน รวม 233 คน

พรรคประชาธิปัตย์ได้ส.ส.แบบสัดส่วน 33 คน ส.ส.แบบแบ่งเขต 132 คน รวม 165 คน

พรรคชาติไทยได้ส.ส.แบบสัดส่วน 4 คน ส.ส.แบบแบ่งเขต 33 คน รวม 37 คน

พรรคเพื่อแผ่นดินได้ส.ส.แบบสัดส่วน 7 คน ส.ส.แบบแบ่งเขต 17 คน รวม 24 คน

พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ได้ส.ส.แบบสัดส่วน 1 คน ส.ส.แบบแบ่งเขต 8 คน รวม 9 คน

พรรคประชาราชได้ส.ส.แบบสัดส่วน 1 คน ส.ส.แบบแบ่งเขต 4 คน รวม 5 คน

พรรคมัชฌิมาธิปไตยไม่ได้ส.ส.แบบสัดส่วน แต่ได้ส.ส.แบบแบ่งเขต 7 คน

สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวนทั้งสิ้น 44,002,593 คน มีผู้มาใช้สิทธิ์ 32,759,009 คน คิดเป็น 74.45 % ถือเป็นการใช้สิทธิ์มากสุดเป็นประวัติการณ์

ส่วนบัตรเสียแบ่งเป็นแบบสัดส่วน 5.57 % แบบแบ่งเขต 2.55 % ถือว่าน่าพอใจ เพราะกกต.ตั้งเป้าบัตรเสียแบบแบ่งเขตไว้ไม่เกิน 3% และบัตรเสียแบบแบ่งเขตครั้งนี้ยังน้อยกว่าการเลือกตั้งปี 2544 ที่มีถึง 10.01 % และปี 2548 มี 5.99 %

ส่วนบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนแบ่งเป็นแบบสัดส่วน 2.85 % แบบแบ่งเขต 4.57 %

สถิติจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดคือ ลำพูน 88.90 %

จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิ์น้อยที่สุดคือ สกลนคร 66.73 %

จังหวัดที่มีบัตรเสียแบบแบ่งเขตมากที่สุดคือ สิงห์บุรี 6.64 % น้อยที่สุดคือ มหาสารคาม 1.12 %

จังหวัดที่มีบัตรเสียแบบสัดส่วนมากที่สุดคือ ตาก 9.06% น้อยที่สุดคือ สมุทรสงคราม 2.54 %

จังหวัดที่มีบัตรประสงค์ไม่ลงคะแนนมากที่สุดแบบสัดส่วนคือ พระนครศรีอยุธยา 5.05 % แบบแบ่งเขตคือ ภูเก็ต 9.90 %

กกต.จะประกาศรับรองผลได้กรณีไม่มีเรื่องร้องเรียนภายใน 7 วันทำการคือวันที่ 4 ม.ค. 2551

ส่วนผู้ที่มีเรื่องร้องคัดค้านและต้องเลือกตั้งใหม่ กกต.จะดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ หากต้องเลือกตั้งใหม่ กกต.กำหนดวันไว้ในวันที่ 13 ม.ค. 2551

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์