จับตาการเมืองหลังศาลชี้ขาด! ทักษิณ รีเทิร์น-กกต.ตะแบง สุจริต สู้กระแส
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 5 พฤษภาคม 2549 11:56 น.
จับตาการเมือง! หากคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเลือกตั้ง2 เม.ย.49 โมฆะ ไทยรักไทยป่วนหนัก หัวหน้าก๊วนสูญเงินเลือกตั้ง 2 รอบ พรรคฝ่ายค้านประสานเสียงเตรียมลงสนาม ด้าน กกต.เตรียมชู สุจริต แจงศาลหักล้างข้อหาทำผิดกฎหมาย นักนิติศาสตร์ ชี้ ทักษิณ รีเทิร์น หลังเลือกตั้งใหม่ก่อนปฏิรูปการเมือง ส่อแววร้ายกว่าเดิม
ในที่สุดวิกฤตภายในบ้านเมืองที่เป็นผลมาจากการตัดสินใจทางการเมืองของ พ.ต.ท..ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะประกาศ เว้นวรรค ทางการเมือง ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทุกภาคส่วนในสังคม กำลังจะได้รับการคลี่คลายโดยอำนาจตุลาการ ตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงชี้แนะ ทางสว่าง ให้สังคมหลุดพ้นจากวังวนแห่งปัญหา ที่จวนเจียนหาทางออกไม่ได้ตลอดระยะเวลายาวนานที่ผ่านมา
ขณะนี้ความหวังของคนในสังคม กล่าวได้ว่าได้ถูกฝากไว้ในมือของ 3 ศาล คือ ศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นเสมือนกลไกสำคัญอย่างยิ่ง ก่อนหน้านี้กว่าที่ฝ่ายบริหารจะผูกเงื่อนปมปัญหาไว้อย่างหนาแน่น ได้เคยมีเสียงสะท้อนจากฝ่ายต่างๆในสังคม ไม่ว่าจะเป็น นักวิชาการ ฝ่ายค้าน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ไม่อาจวางตัวเฉยอยู่ได้ ต่างออกมาทักท้วง
แต่ดูเหมือนว่าเสียงเตือนเหล่านั้น แทบไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะกระตุกให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมเป็นฝ่าย เสียสละ อย่างแท้จริง ถึงแม้การเว้นวรรคจะเกิดขึ้นก็ตาม แต่เป็นการตัดสินใจหลังจากทิ้งภาระไว้ให้คนอื่นแบกรับและหาทางคลี่คลายทั้งสิ้น
ทรท.-ฝ่ายค้าน เตรียมชักธงรบรอบใหม่
การประกาศแนวทางในการทำหน้าที่ของ 3 ศาลที่ผ่านมามีความชัดเจนว่าต่างฝ่ายต่างจะเดินหน้าเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาคดีตามขอบเขตอำนาจของแต่ละศาล ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว การพิจารณาคดีความในแต่ละศาลที่จะต้องตีความกฎหมายบทเดียวกันนั้น ต้องระวังให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ป้องกันความขัดแย้งและสับสนของประชาชน และประเด็นสุดท้ายการดำเนินการของแต่ละศาลจะต้องยึดถือความเป็นอิสระของศาลตามเขตอำนาจของแต่ละศาล ต้องดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายด้วยความสุจริตและยุติธรรม ซึ่งหากจับกระแสความเคลื่อนไหวหลังการประชุมร่วมจาก 3 ศาลดังกล่าวแล้วจะพบว่า ธง ที่ถูกตั้งเอาไว้นั้น กำลังถูกขับเคลื่อนอย่างชัดเจนและรวดเร็ว
เนื่องจากจะเห็นได้ว่าการพิจาณาคดีที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาต่อกรณี การออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา และการยื่นคำร้องให้มีการวินิจฉัยว่า กระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 ที่ผ่านมาถือเป็น โมฆะ หรือไม่ ถึงแม้ขณะนี้ผลการวินิจฉัยชี้ขาดยังไม่ปรากฏออกมาจากการพิจารณาของศาลก็ตามว่าการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 เม.ย.เป็นโมฆะหรือไม่? แต่ดูเหมือนหลายฝ่ายจะเริ่มมองเห็นเค้าลางและทิศทางว่าคำชี้ขาดจะออกมารูปใด โดยเฉพาะหากจับอาการร้อนรนจากบรรดา ส.ส.กลุ่มวังน้ำยม ที่นำทีมโดย โสภณ เพชรสว่าง ส.ส.บุรีรัมย์ ไทยรักไทย 1 ใน ส.ส.485 คนที่เพิ่งผ่านการรับรองผลการเลือกตั้ง โดย กกต.ได้ออกมาเตรียมคัดค้านหากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งมีผลเป็นโมฆะ
ประเมินผลดี-ผลเสีย หลังศาลชี้ขาดเลือกตั้ง โมฆะ
ปฏิกิริยาตั้งป้อมต่อต้านคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ของส.ส.ทั้ง 485 คนครั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ ศาลปกครอง มีคำสั่งระงับการเลือกตั้งรอบ 3 จำนวน 14 เขตใน 9 จังหวัด ชั่วคราวไว้จนกว่าจะพิจารณาว่าการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 เม.ย.มีผลเป็นโมฆะหรือไม่ โดยคำสั่งดังกล่าวออกมาในวันที่ 28 เม.ย. จากนั้นต่อมาในวันที่ 1 พ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับพิจารณาคดีที่อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นคำร้องให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.มีผลเป็นโมฆะ เนื่องจาก กกต.ดำเนินกระบวนการเลือกตั้งผิดกฎหมาย บทบาทของทั้ง 2 ศาลที่ออกมาดังกล่าวไม่เพียงแต่จะดำเนินไปด้วยความรวดเร็วเท่านั้น แต่หลายฝ่ายเริ่มเห็น "สัญญาณ"ที่ออกมาถึงแนวโน้มว่าการเลือกตั้งดังกล่าว มีเปอร์เซ็นต์ "โมฆะ"อย่างชัดเจน
นอกจากการเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมคัดค้านคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ส.ส.ใหม่ทั้ง 485 คนซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่สังกัดพรรคไทยรักไทยแทบทั้งหมด กำลังปั่นป่วนเพราะเกรงว่าตนเองจะ สิ้นสมาชิกภาพ ในเร็ววันนี้ ยังพบว่าในซีกของฝ่ายค้าน ทั้ง 3 พรรค ประชาธิปัตย์ ชาติไทย มหาชน รวมทั้ง ความหวังใหม่ ที่มี ชิงชัย มงคลธรรม หัวหน้าพรรค ต่างออกมาประสานเสียงแสดงความพร้อมที่จะกระโจนลงสู่สนามเลือกตั้งครั้งใหม่ทันที (อ่าน ความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน...) ว่ากันว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ส.ส.ไทยรักไทย แสดงอาการโวยวายออกมาชัดเจนหากศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะนั้นเกิดจากการที่แต่ละก๊วนในพรรค เพิ่งผ่านศึกและหมดค่าใช้จ่ายไปจำนวนไม่น้อยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์ นักการเมือง และนักนิติศาสตร์ ได้ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ โดยที่พระราชกฤษฎีกายุบสภา เมื่อวันที่ 24 ก.พ.มีผลบังคับใช้อยู่นั้น ถึงแม้จะเกิดปัญหา ส.ส.ทั้ง 485 คนโดยเฉพาะส.ส.จากพรรคการเมืองเล็ก เช่น ประชากรไทย เดินหน้าคัดค้านคำพิพากษา หรือเกิดแรงกดดันให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้ง 4 คนต้องลาออกจากตำแหน่ง ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้ง ก็ตามแต่มีการคาดการณ์ว่า น่าจะเป็นทางออกที่มีความเป็นไปได้และเหมาะสมที่สุด เพราะหากมีคำวินิจฉัยออกมาว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภา ที่เป็นอำนาจของบริหารเป็นโมฆะ ก็จะเท่ากับว่าการประกาศยุบสภา เสมือนไม่เคยเกิดขึ้น
กกต.เมินเสียงไล่-ชู สุจริต เกราะกำบัง
เท่ากับว่าทุกอย่างจะถูกย้อนกลับไปสู่จุดเดิม ก่อนการยุบสภา เมื่อวันที่ 24 ก.พ.49 ดังนั้นทั้งนายกฯ รัฐมนตรี และ ส.ส.ชุดเดิม (เลือกตั้ง 6 ก.พ.2548) จะอยู่ในสถานะเดิม ซึ่งคาดว่าทั้งพันธมิตร ส.ส.ชุดใหม่ทั้ง 485 คนและฝ่ายต่างๆ จะไม่มีใครยอมแน่นอน ซึ่งคุณทักษิณอาจจะประกาศยุบสภาอีกรอบหนึ่ง โดยอาจจะหลังงานฉลองสิริราชสมบัติ ในราวเดือน มิ.ย. แต่หนทางนี้ปัญหาก็จะวุ่นวายมากว่าหนทางแรก หากศาลวินิจฉัยออกมาว่าเป็นโมฆะ แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุกับผู้จัดการรายสัปดาห์ พร้อมทั้งเชื่อว่าศาลไม่น่าจะมีคำวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าวออกมา
ดังนั้น ไม่ว่าการวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ จะออกมาว่าการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 เป็นโมฆะหรือไม่ก็ตาม จะพบว่าฝ่ายที่ยังคงเผชิญหน้ากับ แรงกดดัน จากทั่วสารทิศย่อมไม่พ้น กรรมการ กกต.ทั้ง 4 คน ถึงแม้กกต.จะพยายามโยน เผือกร้อน ไปสู่องค์กรอื่นแล้วก็ตาม
การเร่งประกาศรับรองผล ส.ส.ที่ผ่านการเลือกตั้ง 2 เม.ย. จำนวน 485 คนนั้นยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่กกต.พยายามลดกระแสกดดันที่เกิดขึ้นลงไป เพราะเมื่อมี ส.ส.ใหม่485 คนแล้วต่อไปจะมีการตัดสินหรือยื่นตีความว่าจะเปิดประชุมสภาฯ ได้หรือไม่ ก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบของ กกต.แล้ว
ดังนั้น ประเด็นปัญหาใหญ่ที่กกต.ต้องเร่งคลี่คลายในเวลานี้จึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรกกต.จึงจะไม่ตกอยู่ในฐานะผู้กระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง ตามที่มีผู้ร้องให้มีการวินิจฉัย กระบวนการเลือกตั้ง ว่าเป็นไปโดยไม่สุจริต
เชื่อว่ากกต.ทั้ง 4 คนไม่มีใครยอมลาออกอย่างแน่นอน เพราะหากลาออกจริง เท่ากับเป็นการยอมรับความผิดที่เกิดขึ้น ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุด คือ การอ้างความสุจริตในการจัดคูหาเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำทุจริตเกิดขึ้น และที่ผ่านมาก็เคยนำวิธีการจัดคูหาเลือกตั้ง ส.ส.ไปใช้กับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมาแล้ว ไม่ใช่ว่าจู่ๆ ดี กกต.จะจัดคูหาขึ้นมาเองโดยไม่มีเหตุอันควร
นักนิติศาสตร์เตือน ทักษิณ รีเทิร์น ร้ายกว่าเดิม!
สำหรับมุมมองของนักนิติศาสตร์ ที่มีต่อปัญหาในครั้งนี้เห็นว่าชนวนที่อาจสร้างความสับสนต่อสังคมเวลานี้คือ ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจเรื่องของพระราชกฤษฎีกายุบสภา กับกระบวนการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549จะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร ให้ชัดเจน ปรีชา สุวรรณทัต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล กล่าวถึงประเด็นเรื่องการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่สามารถกระทำได้ และเมื่อมีพระราชกฤษฎีดังกล่าวออกมาแล้ว จึงทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.2549 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ความจริงแล้วไม่ควรใช้คำว่า โมฆะ แต่ควรใช้คำว่า สิ้นผล หรือไม่มีผลในทางกฎหมาย จะเหมาะสมมากกว่า เนื่องจากคำว่าโมฆะได้แสดงผลอยู่ในตัวอยู่แล้วว่าการกระทำทั้งหมดที่ได้ทำมาตั้งแต่ต้นนั้น เป็นการเสียเปล่า ไม่มีผลมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
ดังนั้น ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งไปแล้วทั้งระบบบัญชีรายชื่อและระบบเขตเลือกตั้ง ก็จะเท่ากับว่าเหมือนไม่เคยมีการเลือกตั้งมาตั้งแต่ต้น จากนั้นจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ ส่วนปัญหาที่จะแตกออกมาว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาก็ต้องไปว่ากันต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้เวลานี้ผลการวินิจฉัยชี้ขาดจากอำนาจตุลาการทั้ง 3 ศาลยังไม่ปรากฏออกมาอย่างชัดเจน แต่นักนิติศาสตร์อย่าง ปรีชา สุวรรณทัต ได้สะท้อนทิศทาง ผลลัพธ์ ออกมาที่ไม่แตกต่างกับกระแสที่เกิดขึ้นในสังคมเวลานี้ที่มองเห็นว่า การเลือกตั้งรอบใหม่ กำลังจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เข้าใจว่าเวลานี้ทุกคนกำลังให้ความสำคัญในประเด็นว่าการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะหรือไม่นั้น อาจจะสร้างแรงกดดันต่อการทำงานของศาลทั้ง 3 อยู่บ้าง ดังนั้น คาดว่าศาลใดศาลหนึ่งอาจจะเลี่ยงไม่ใช้คำว่าโมฆะ หรือทำหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดออกมา แต่อาจเลือกวิธีการแสดงออกเพื่อยืนยันว่าการกระทำเมื่อวันที่ 2 เม.ย.นั้นไม่มีผลทางมาแล้วตั้งแต่ต้นก็เป็นได้
นอกจากนี้ เขายังได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์หากศาลมีคำวินิจฉัยออกมาว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 ไม่มีผลทางกฎหมายแล้ว กระแสเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งรอบใหม่จะมีมากขึ้นทันที โดยเฉพาะจากพรรคฝ่ายค้าน หรือบางกลุ่มในสังคมที่อยากเห็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งครั้งใหม่เกิดขึ้นโดยที่ยังไม่มีการ แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อนำไปสู่การ ปฏิรูปการเมือง ในที่สุดปัญหาก็จะ วน กลับมาอีก และอาจจะทวีความรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมาด้วยซ้ำ
ถ้าการเลือกตั้งครั้งใหม่เกิดขึ้น โดยที่ยังไม่มีการปฏิรูปการเมือง จะส่งผลให้ระบอบทักษิณ กลับมาครอบงำได้มากกว่าเคยเกิดขึ้น ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีคนส่วนหนึ่งในสังคมพยายามที่จะปฏิเสธก็ตาม แต่ถ้าระบบยังเอื้อให้กลับมาได้อีก ต่อไปก็ลำบาก นอกจากนี้เชื่อว่าแต่ละฝ่ายจะขนเงินใช้ในการเลือกตั้งอย่างมาก
ขณะเดียวกันยังพบว่า มีบางส่วนที่ยังไม่ต้องการให้ การเลือกตั้งครั้งใหม่ เกิดขึ้น หากกฎหมายยังมีช่องว่าง โดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ยังไม่พร้อมสำหรับศึกเลือกตั้งในวันข้างหน้า ซึ่งหลายคนรู้ดีว่าพรรคที่อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบและมีความพร้อมมากที่สุดหาก ย่อมไม่พ้น ไทยรักไทย แน่นอนทั้งในเรื่องของอำนาจเงิน อำนาจรัฐ ดังนั้น เวลานี้จึงยังพบว่าไม่ได้มีเสียงเรียกร้องให้การเลือกตั้งใหม่ เกิดขึ้นอย่างเป็นเอกฉันท์ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์!
ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นเงื่อนปมที่ยากต่อการคลี่คลายนั้น ล้วนแล้วเกิดจากฝ่ายการเมือง ทั้งสิ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับส่งผลกระทบต่อทุกส่วนในสังคมโดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ประชาชน เพราะต้องไม่ลืมว่าเงินงบประมาณที่นำไปใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่มาจาก ภาษีอากร จากชาวบ้าน ทั้งสิ้น!!