เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 ธ.ค. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง
ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล(นอส.) โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้น พล.อ.สนธิ แถลงว่า ที่ประชุม นอส.ได้ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การให้สถานะกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยและอาศัยอยู่เป็นเวลานานตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล เพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้สถานะจากประเทศเพื่อนบ้านหลบหนีเข้าประเทศ
ซึ่งได้หลบหนีเข้าประเทศไทยตั้งแต่ปี 2519 แบ่งเป็น 2 กรณีคือ
1.กรณีผู้ที่มีเชื้อสายไทย
จำนวน1.3 หมื่นคน ซึ่งแบ่งออกเป็น5 กลุ่มย่อยคือ ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากเกาะกง ประเทศกัมพูชาที่เข้ามาก่อนวันที่ 15 พ.ย.2520 ผู้อยพยพเชื้อสายไทยจากเกาะกงที่เข้ามาหลังวันที่ 15 พ.ย.2520 ผุ้หลบหนีเข้าเมืองชาวลาวภูเขา และผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยที่อพยพเข้ามาหลังวันที่ 9 มี.ค.2519และ
2. กรณีผู้ไม่มีเชื้อสายไทย
จำนวน 3.4 แสนคน และแบ่งเป็น4 กลุ่มคือ บุคคลที่สูงและชุมชนบนที่สูงที่อพยพเข้ามาหลังวันที่ 3 ต.ค.2528 ผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวพม่า ที่เข้ามาหลังวันที่ 9 มี.ค.2519 ชาวลาวอพยพและผู้หลบหนี้เข้าเมืองชาวกัมพูชา โดยบุคคลเหล่านี้จะได้รับรองสถานะเป็นบุคคลต่างด้าว ส่วนบุตรหลานจะได้สัญชาติไทยเพื่อเข้าสู่สังคมไทยได้ ซึ่งตามกรอบยุทธศาสตร์จะเร่งเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบและดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2552
พล.อ.สนธิ กล่าวว่า
ความจริงบุคคลทั้งสองกลุ่มดังกล่าวเดิมก็มีสถานะอยู่พอสมควรแล้ว แต่ที่ประชุมเห็นว่าควรจะมีการพิจารณาให้สถานะเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและมีโอกาสที่ดีขึ้น อีกทั้ง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่เช่นนั้นบุคคลเหล่านั้นอาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือหันไปประกอบอาชีพที่ไม่สุจริต ซึ่งจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ