เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ 13 ธ.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก
ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่นายทัศพงษ์ วิชชุประภา อดีตรองผู้อำนวยการบริษัท ไทยเดินเรือ จำกัด (บทด.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายสมพร แก้วงาม นายนพพร เทพสิทธา นายจิระเสกข์ ตรีเมธสุนทร และนายเตชะ บุ่ณยะชัย เป็นจำเลยที่ 1-5 ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คำฟ้องของโจทก์สรุปความผิดจำเลยว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2547 จำเลยได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมีมติพักงานโจทก์ตามสำเนารายงานประชุมสภากรรมการวิสามัญครั้งที่ 2 /2547 เหตุเกิดที่ห้องประชุมชั้น 31 ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ
ศาลวิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1-5 มีความผิด
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พิพากษาจำคุกคนละ 3 ปี แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 เคยรับราชการด้วยความอุตสาหะ วิริยะมานาน จนได้รับตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง ส่วนจำเลยที่ 2-5 เป็นกรรมการบริษัทไทยเดินเรือจำกัด รักษาผลประโยชน์ของบริษัทในเรื่องอื่นๆ มานานพอสมควร ได้เคยสร้างคุณงามความดีแก่ทางราชการมาก่อน จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 2 ปี
อย่างไรก็ตาม พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 5 ได้กระทำต่อผู้บริสุทธิ์ที่พยายามรักษาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองไม่ให้ได้รับความเสียหาย พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะร้ายแรงจึงไม่รอลงอาญา
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า หลังจากนั้นนายสมหมาย ภาษี ได้ทำเรื่องเพื่อยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว และระบุว่าจะขอปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ว่าตนขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ ถ้าขาดจะลาออกทันที นายสมหมายกล่าวว่า สำหรับคดีดังกล่าวนั้น เกิดจากการที่ตนสั่งพักงานผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการบริษัท ไทยเดินเรือ ในขณะนั้นเนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ทุจริต ไม่คิดว่าจะต้องตกเป็นจำเลยเสียเอง ต่อมา ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัว นายสมหมาย โดยนายสมหมาย ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาท ยื่นขอประกันตัว ศาลพิจารณาแล้วจึงอนุญาตให้ประกันตัวตามคำขอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่นายสมหมายถูกพิพากษาจำคุก ทำให้นายสมหมายขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 182 ที่บัญญัติว่า "ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ (3) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะไม่ไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท"