วงเสวนาจุฬาฯ อัด ระบอบทักษิณ ยับ-แนะยุบ กกต.ตั้งศาลคุมเลือกตั้งแทน

วงเสวนาจุฬาฯ อัด ระบอบทักษิณ ยับ-แนะยุบ กกต.ตั้งศาลคุมเลือกตั้งแทน

นายประมวล รุจนเสรี

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 พฤษภาคม 2549 19:28 น.

นักวิชาการตั้งวงเสวนาถล่มระบอบทักษิณ ประมวล รุจนเสรี เผยเหตุ แม้ว กว้านซื้อ ส.ส.เพราะกลัวกลไกตรวจสอบทางสภา-ภาคประชาชน แถมยังอ้าง 16 ล้านเสียงเป็นกุญแจใช้อำนาจที่มิชอบ บีบ กกต.จัดโกงเลือกตั้งเอาเปรียบพรรคอื่น ด้าน บรรเจิด แนะหลังยุคทักษิณ ส.ส.ต้องไร้สังกัด-ปลดล็อก แต่ห้ามย้ายพรรคระหว่างสมัยประชุม-ไม่ขึ้นตรงต่อมติพรรค-ขจัด ส.ว.ร่างทรงการเมือง พร้อมเสนอยุบ กกต.ทิ้ง มอบอำนาจศาลจัดการเลือกตั้งแทน

วันนี้ (2 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายจุฬาฯเชิดชูคุณธรรม นำประชาธิปไตย ร่วมกับ สถาบันสหวรรษ จัดเสวนาเรื่อง การเมืองหลังระบอบทักษิณ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายประมวล รุจนเสรี แกนนำกลุ่มวังน้ำเย็น อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย นายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

นายประมวล กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น เกิดจากธุรกิจทุนนิยมผูกขาด เมื่อได้เข้าสู่อำนาจจึงลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ ใช้การตลาดนำการเมือง สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในชนบทได้ นาทีนี้เป็นการยากที่จะล้มทักษิณด้วยระบบการเลือกตั้ง วันนี้ถ้าทักษิณไม่ตายก็เอาชนะเขาไม่ได้ ทั้งๆ ที่นโยบายของทักษิณนั้นเป็นการตลาดที่ไม่มีความลึกซึ้ง แต่เป็นการตลาดเพื่อตลาดเท่านั้น เช่น การลงทะเบียนคนจน ตนเคยถามว่า จดไปทำไม พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบว่าเพื่อให้คนมีความหวังกับพรรคไทยรักไทย การเลือกตั้งปี 2548 เขาจะได้ผูกพันกับพรรค นโยบายอย่างนี้พรรคประชาธิปัตย์ สู้ไม่ได้หรอก เมื่อตนถามต่อไปว่าเมื่อจดทะเบียนแล้วจะแก้ปัญหาอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบว่า ยังไม่รู้เลยพี่ เดี๋ยวค่อยคิดกันต่อ ไม่น่าเชื่อว่าเป็นคำตอบของคนที่นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ นโยบายเอสเอ็มแอล ก็เช่นกันนายกฯคิดอยู่คนเดียวบนเครื่องบิน ไม่ใช่นโยบายที่สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนแต่อย่างใด

นายประมวล ยังกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น เป็นคนที่กลัวการตรวจสอบ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเขาเกิดมาจากการถูกตรวจสอบกรณีซุกหุ้นปี 2544 ตั้งแต่นั้นเขาจึงระดมเสียงในสภาให้ได้เกิน 300 เสียง ด้วยการซื้อ ส.ส.ซื้อพรรคเล็กพรรคน้อย มาเป็นของตน เพื่อให้กลไกการตรวจสอบในสภาไม่เกิด พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้กติกาตัวนี้ปกป้องตัวเองมาตลอด ไม่สนใจกลไกการตรวจสอบสภา ไม่เคยชี้แจงในสภา เมื่อกระบวนการตรวจสอบเดินไม่ได้ก็เหิมเกริม ไปแก้กฎระเบียบต่างๆ จัดซื้อจัดจ้างหาผลประโยชน์เข้าข้างตัวเอง

นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ จะทำให้กลไกการตรวจสอบเป็นหมันแล้ว เขายังอ้างคะแนนเสียงไม่ว่าจะ 16 หรือ 19 ล้านเสียง เป็นกุญแจไขเข้าไปสู่การใช้อำนาจแล้วล็อกเอาไว้ไม่ให้ประชาชนเข้าถึงเพื่อตรวจสอบได้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พยายามสอบถามข้อมูลข่าวสาร แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับปฏิเสธที่จะให้ความรู้ ประชาชนจึงออกมาเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ไม่เคยตอบคำถามกลับเบี่ยงเบนประเด็นไปเรื่อยๆ ไม่เคยสะสางเรื่องการทุจริต คอร์รัปชัน ประกาศยุบสภา จากนั้นสร้างประเด็นว่าใครก็ตามที่ไม่ร่วมมือกับการเลือกตั้งแสดงว่าไม่รักประชาธิปไตย จ้างพรรคเล็กลงสมัคร บีบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้รับสมัครแล้วสมัครอีก ใช้คนๆ เดียวสมัครทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ และให้คนเวียนเทียนสมัครทุกเขต เพียงเพื่อให้ครบจำนวนเท่านั้น ในอดีตครั้งหนึ่งป๋าเหนาะ (นายเสนาะ เทียนทอง) เคยถามนายกฯว่าจะแข่งเลือกตั้งอย่างไรดี พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบว่า กลัวอะไร กกต.เป็นของเรา วันนี้พิสูจน์แล้วว่า กกต.เป็นของเขาจริง

นายประมวล กล่าวว่า หลังยุค พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะต้องเข้าไปเป็นเจ้าของอำนาจ และมีส่วนในการตัดสินการใช้อำนาจอย่างแท้จริง ไม่ใช่เหมือนในปัจจุบันที่มีโอกาสใช้อำนาจได้วันเดียวเพียง 4 วินาที จากนั้นยกอำนาจให้นายกฯ คณะรัฐมนตรีทั้งหมด เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รู้ว่าการตัดสินใจทางการเมืองนั้นเป็นกุญแจของประชาชน การศึกษาของประชาชนต้องดีขึ้น องค์กรพัฒนาเอกชน ต้องมีบทบาทมากกว่านี้ในการสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง และตรวจสอบอำนาจรัฐ

ทักษิณเป็นนักธุรกิจทุนนิยม เขาลงทุนก้อนหนึ่งแล้วหาทุนเพื่อลงทุนต่อการเลือกตั้งคราวที่แล้ว 2 เม.ย.ใช้เงิน 4 พันล้านบาท ทุนทางการผูกขาด เริ่มตั้งแต่ปี 2544 มือถือ วิทยุ กลุ่มต่างๆ อยู่ในเครือธุรกิจโทรคมนาคม การก่อสร้างขนาดใหญ่ คนที่ไม่อยู่ในเครือข่ายไม่อาจจะเข้าไปประมูลงานได้ ถูกตั้งด่าน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม เป็นวงจร ที่เขาคิดว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม จึงเกิดธรรมเนียมว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติ เกิดคำพูดว่าเขาแล้วจะโกงบ้างก็ไม่เป็นไร ซึ่งจริงๆ แล้วเก่งจริงหรือเก่งปลอม นี่คือ ผลพวงของทักษิโณมิกส์ นายประมวล กล่าว

นายบรรเจิด กล่าวว่า ข้อเสนอหลังยุคทักษิณ คือ 1. ผู้สมัคร ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค 2. ไม่ล็อก ส.ส. 90 วัน แต่ห้ามย้ายพรรคระหว่างสมัยประชุม 3. ส.ส.ต้องผูกพันตามมโนธรรมสำนึกของตัวเองไม่ใช่อยู่ภายใต้การบังคับของมติพรรค เช่น กรณีทุจริตซีทีเอ็กซ์ ยังไม่อภิปรายเลยมติออกมาแล้ว การตัดสินใจเช่นนี้ทำให้ผลประโยชน์ของประชาชนไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง 4.ส.ว. ต้องไม่ใช่มาจากฐานรากของพรรคการเมืองเนื่องจาก ส.ว.สามารถให้คุณให้โทษทางการเมืองได้ ดังนั้นหากมาจากฐานเสียงเดียวกับพรรคการเมืองก็ถือว่ามีผลประโยชน์เดียวกัน ส.ว.ไม่สามารถทำงานได้ ส่วนการป้องกันพฤติกรรมผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้นต้องมีกฎหมายที่เท่าทันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลก แค่เพียงออกกฎหมายห้ามมิให้ลูกเมียถือหุ้นนั้นไร้เดียงสามาก ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

นายบรรเจิด เสนอว่า ต้องมีการปรับโครงสร้างระบบการตรวจสอบ ซึ่งสังคมไทยมีระบบศาลเป็นต้นทุนที่สำคัญ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ เพียงแต่เชื่อมโยงกระบวนการกลับไปหาต้นทุนเดิมของสังคมไทย เช่น เอาตัวแทนของศาลต่างๆ จัดเป็นศาลเลือกตั้ง ซึ่งจะดีกว่ากกต. ทุกวันนี้ เพราะกกต.ขณะนี้เสมือนหนึ่งเป็นรัฐอิสระ ทั้งๆที่กกต.เป็นองค์กรที่เกิดจากรัฐธรรมนูญจะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ หากกกต.ดำเนินการขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องมีการตรวจสอบ

นายบรรเจิด กล่าวว่า ต้องเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้สูงขึ้นตั้งแต่การเข้าชื่อถอดถอนหรือการเสนอกฎหมาย ที่ผ่านมาวางกลไกให้ข้าราชการจะทำหน้าที่นี้แต่สุดท้ายแล้วเมื่อข้าราชการอยู่ใต้นักการเมือง กลไกต่างๆไม่ขยับ เช่นกรมสรรพากร ดังนั้นเมื่อเราหนีไม่พ้นที่นักการเมืองมีอำนาจเหนือข้าราชการ ถ้าข้าราชการไม่ขยับต้องหาช่องทางตรวจสอบทางอื่นให้ได้

หลังยุคทักษิณต้องมีกระบวนการตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด เช่น นโยบายของรัฐบาลต้องไม่ใช่นโยบายประเภทประชานิยม อาศัยประชาชนเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้คะแนนเสียง เช่นเอ็สเอ็มแอล คือการเอาเงินรัฐไปหาเสียง รัฐบาลต้องสร้างนโยบายประชามั่นคง คือการสร้างความมั่นคงที่แท้จริงให้ประชาชน

นักวิชาการ ผู้นี้ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ต้องมีการยกระดับการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมือง ให้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แล้วร่างออกมาเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยจริยธรรมของนักการเมืองสำหรับ ส.ส.และส.ว. พร้อมทั้งสร้างกลไกเชื่อมโยงกับศาลต่างๆ ทั้งศาลปกครอง และศาลฎีกา ให้เข้ามาควบคุมดูแลจริยธรรมนักการเมืองเช่นเดียวกับในต่างประเทศที่เห็นความสำคัญของศาลเหล่านี้เป็นพิเศษ

ต่อมสำนึกของสังคมไทยยังบกพร่องมาก จึงต้องสร้างกลไกขึ้นมาควบคุมกำกับ ต่อไปต้องตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองอย่างเข้มข้น เช่น การออกพ.ร.ก.สรรพสามิต ถ้าคนที่นั่งหัวโต๊ะมีสองสถานะผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันคือด้านหนึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจอีกด้านหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ผลของการกระทำนั้นถือว่ามีความบกพร่อง ศาลต้องให้เพิ่มระดับการพิจารณาให้เข้มข้นขึ้น แต่ระเบียบปัจจุบันให้นายกรัฐมนตรี กำกับดูแลจริยธรรม ทั้งๆที่ตัวคนกำกับยังไม่มีจริยธรรม คุณธรรม แล้วจะไปดูแลหางได้อย่างไร เช่นเดียวกับให้แมลงวันตอมแมลงวันด้วยกันเอง เป็นสิ่งที่เป็นไปได้นักวิชาการมธ. กล่าว

นอกจากนี้ ในอนาคตต้องยกเลิกพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ เพราะกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นการให้เช็คเปล่ากับผู้บริหารให้สามารถขายรัฐวิสาหกิจเปิดทางให้กลุ่มนักธุรกิจการเมืองเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรจากภาคประชาชน

นายธีรภัทร กล่าวว่า การปฎิรูปการเมืองรอบสอง เรื่องที่ควรแก้ไขในรัฐธรรมนูญการการจำกัดระยะเวลาการอยู่ในตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกฯไม่ควรดำรงตำแหน่งเกิน 2 สมัย รวมทั้งการเพิ่มอำนาจการตรวจสอบ ให้องค์กรอิสระมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยมีการสรรหา และมีกระบวนการตรวจสอบองค์กรอิสระอย่างกกต. ป.ป.ช. หรือคตง. โดยให้ศาลและอัยการเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์