เปิดตัวสมุดปกดำแฉ 10 เรื่องรัฐย่ำยีประชาชน
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 เมษายน 2549 15:02 น.
องค์กรผู้บริโภคเปิดตัวสมุดปกดำรายงาน 10 สถานการณ์ผู้บริโภคแฉพฤติกรรมรัฐ - นายทุน ทำคนไทยสุดช้ำ ปู้ยี่ปู้ยำ จนสภาพพลเมือง ถูกลดทอนเหลือเพียงผู้บริโภคและลูกหนี้ตาดำๆ วิพากษ์รัฐบาลสร้างหลักประกันสุขภาพบังหน้า แต่แท้จริงแอบแฝงเอาบริการสาธารณสุขเป็นเรื่องการค้า คุกคามสื่อแนวใหม่ ทั้งกว้านซื้อจนกลายเป็นเจ้าของสื่อ ส่งเสริมประชาชนเป็นหนี้ เอฟทีเอทำร้ายเกษตรกรไทย
ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษา Consumer report กล่าวว่า ในวันคุ้มครองผู้บริโภค 30 เม.ย. นี้ แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคได้จัดทำรายงาน 10 สถานการณ์ผู้บริโภค ในชื่อเอกสาร Consumer report เป็นครั้งแรกปีแรก และมีนโยบายที่จะจัดทำรายงานนี้ต่อเนื่องทุกปี การรายงานครั้งนี้ได้ยกเหตุการณ์ 10 เรื่อง ที่รวบรวมข้อมูลได้ในระหว่าง ปี 2547-2548 ซึ่งเป็นสถานการณ์สำคัญๆ อันเป็นผลพวงจากการดำเนินการทั้งของรัฐ และเอกชน ที่มีผลต่อนโยบายสาธารณะ และมีผลกระทบต่อเนื่องถึงวิถีการดำเนินชีวิตของพลเมืองทั้งในฐานะผู้บริโภคด้วย
กระบวนการต่อสู้ของผู้บริโภคในระดับปัจเจกบุคคลและการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายพลังของพลเมืองในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ได้ปรากฏเป็นที่ชัดแจ้งในระยะที่ผ่านมา ดังนั้น Consumer report ในฉบับที่รายงานนี้ จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึง สิทธิผู้บริโภค สิทธิพลเมือง 2547- 2548 รายงานทั้ง 10 สถานการณ์นี้ มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว อาทิ เรื่องขบวนการผู้บริโภคและภาคประชาชนยุติการแปรรูปกฟผ. ที่การเคลื่อนไหวทางสังคมต่อสู้ จนเปลี่ยนทิศทางของนโยบายรัฐบาล ไม่ให้นำกฟผ.ไปแปรรูปและกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
ผศ.สุนทรี กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องระบบบริการสุขภาพแบบการแพทย์หรือการค้าภายใต้นโยบายประชานิยม ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นจากประชาชนในชนบท และประชาชนระดับล่าง แต่เบื้องหลังรัฐบาลได้สร้างกับดักแห่งความทุกข์ยากไว้ การที่รัฐบาลตัดสาระสำคัญในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯเกี่ยวกับการคุ้มครองบริการสาธารณสุขให้เป็นเรื่องการแพทย์ หรือสิทธิในการมีชีวิตและสุขภาพตามอัตภาพของพลเมืองออกไป เท่ากับเร่งส่งเสริมให้เกิดระบบแพทย์พาณิชย์ควบคู่ไปกับการเปิดประเทศให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์ (medical hub) ของภูมิภาคที่มุ่งสู่บริการพิเศษแก่ผู้ที่มีฐานะร่ำรวย ปัญหาที่ตามมาคือการแย่งชิงบุคลากรชั้นนำทางการแพทย์ ขณะที่รัฐยังมองข้ามคนไข้-ผู้บริโภคที่ไม่ได้รับเป็นธรรมจากการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาด
ผศ.สุนทรี กล่าวว่า เหตุการณ์สำคัญอีกเรื่องว่าด้วยยุคมืดของสิทธิเสรีภาพ ภายใต้กลวิธีการควบคุมสื่อมวลชนของรัฐบาลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาว่ามีความน่าสะพรึงกลัวเพียงไร เริ่มจากวิธีการสร้างวาระข่าว การใช้งบโฆษณาเป็นเครื่องมือกดดันให้สื่อสยบยอม การเข้ากว้านซื้อสื่อที่ยังแสดงอาการดื้อดึงวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบรัฐบาล และการใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าจัดการขั้นเด็ดขาด คือฟ้องแล้วฟ้องอีกเพื่อให้สื่อเข็ดหลาบ เลิกส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จัดการกับสื่อทั้งในแง่เนื้อหาสาระ ตัวนักวิชาชีพ และการซื้อหรือเทคโอเวอร์เพื่อถ่ายโอนความเป็นเจ้าของจากผู้ประกอบการสื่อไปสู่กลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล แสดงให้เห็นการเข้าครอบงำกิจการสื่อสารมวลชนโดยกลุ่มทุนธุรกิจการเมืองอย่างชัดเจน รายงานฉบับนี้ยังกล่าวถึงจุดพลิกผันเมื่อขบวนการทางสังคมได้แก่พลังของผู้บริโภคและพลังของพลเมืองประสานกันอย่างลงตัว ในการต่อสู้เรียกร้องเอาสิทธิเสรีภาพที่สูญเสียไปกลับคืนมา
ประเด็น คนจนแบบใหม่ เป็นอีกเรื่องที่ชี้ให้เห็นว่า การที่รัฐบาลได้ทำกับประชาชนรากหญ้าและคนจน ด้วยการจัดวางโครงสร้างของระบบการใช้จ่ายเงินของปัจเจกบุคคลให้เข้าสู่วงจรของการเป็นหนี้ และวัฒนธรรมบริโภคนิยมอย่างเต็มรูปแบบผ่านนโยบายประชานิยม ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและตัวเลขจีดีพีอยู่บนพื้นฐานของวงจรการบริโภคและการเป็นหนี้ มากกว่าการเติบโตจากการผลิต เกิดวัฒนธรรมการบริโภคขึ้นทุกหย่อมหญ้า ทุนนิยมสามานย์ทำให้คนจนกลายเป็นลูกหนี้และยิ่งจนลงกว่าเดิม และยังทำให้สภาพความเป็นพลเมืองถูกลดทอนลงเหลือเพียงผู้บริโภคและลูกหนี้ตาดำๆ
ทั้งนี้ รายงานนี้ยังประกอบด้วยหัวข้อ พลังผู้บริโภคกับผลประโยชน์ของธุรกิจบุหรี่ การค้าเสรีและอนาคตประเทศไทย ภัยใกล้ตัวจากมะละกอและอาหารจีเอมโอ บริโภคนิยม บริโภคสุขภาพ สินค้า ไร้ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ บ้านไม่สมหวัง และมาตรา 57 องค์การอิสระผู้บริโภค ซึ่งล้วนเป็นปรากฎการณ์ การขับเคลื่อนทางสังคม ที่นับวัน ประชาชนมีความตื่นตัวในเรื่องสิทธิพื้นฐาน กล้าเรียกร้องความเป็นธรรมมากขึ้น และสร้างแรงกดดันทำให้รัฐต้องปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายใหญ่ๆ เช่นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือการชะลอนโยบายเรื่องเอฟทีเอ เป็นต้น พลังผู้บริโภคและพลังพลเมืองกำลังก่อตัวและขับเคลื่อนไปข้างหน้า ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง รัฐมีนโยบายที่ล้าหลัง หน่วยงานของรัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ข้อสำคัญรัฐยังไม่ได้ดำเนินการออกกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคตามมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เพื่อให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระผู้บริโภคขึ้นมาทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ในลักษณะที่ครอบคลุมกว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522