วันนี้ (20 พ.ย.) นายอภิชาต สุขัคคนานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่ามติของ กกต.ที่ห้ามกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งพรรคการเมืองใด และมติที่ออกมา กกต. คงไม่ทบทวนแก้ไข และไม่จำเป็นต้องออกประกาศหรือระเบียบ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย เพราะเห็นว่าตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ระบุว่าการถูกตัดสิทธิเสมือนเป็นการถูกลงโทษ จึงต้องถูกจำกัดสิทธิบ้างแต่คงไม่จำกัดสิทธิทั้งหมด หากนายจาตุรนต์ ฉายแสง จะปราศรัยก็สามารถทำได้ในฐานะประชาชน แต่หากพูดหาเสียงให้พรรคการเมืองใด หรือพาดพิง กกต. จะถือว่ามีความผิด และถูกดำเนินคดี
ส่วนที่นายจาตุรนต์ ในฐานะตัวแทนพรรคพลังประชาชน
จะยื่นหนังสือให้องค์กรนิรโทษกรรมสากลพิจารณานั้น ประธาน กกต. เห็นว่า ไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของ กกต.เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล
กกต.เสียงแข็งไม่ทบทวน ห้าม111ทรท.เคลื่อนไหว
สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
ที่จัดทำโดยคณะกรรมการดำเนินการตามวาระแห่งชาติ ว่าด้วยการรณรงค์และแก้ไขการซื้อสิทธิขายเสียง (ครส.) ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ระบุว่าประชาชนกว่าร้อยละ 80 จะไม่แจ้งการซื้อสิทธิขายเสียง นายอภิชาต ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวว่าไม่สนใจแม้จะเป็นโพลของใคร
ขณะที่นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า
กกต. คงไม่วิตกกังวลกับผลโพลดังกล่าว แต่ก็จะรับฟังเพื่อนำมารณรงค์เผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจมากยิ่งขึ้น พร้อมยอมรับว่าขณะนี้ได้รับแจ้งจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการเบิกเงินเป็นจำนวนมาก โดยสัปดาห์นี้ กกต.จะเชิญเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หารือวิธีจัดการและตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางการเงินของพรรคการเมืองต่อไป
ทางด้านนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
กล่าวถึงกรณีอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คน ยังออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ว่าผู้ที่จะวินิจฉัยเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือ กกต. และเห็นว่าการจะไปยื่นฟ้ององค์กรสิทธิมนุษยชนสากลนั้น ไม่น่าจะเกี่ยวกัน เพราะคำวินิจฉัยเป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้งของไทยไม่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน "ผู้ถูกตัดสิทธิก็สามารถดำเนินการตามที่เห็นสมควรได้ เพื่อให้ได้ข้อยุติและทุกฝ่ายยอมรับได้ แต่ขอให้ควรระวังหากทำการฝ่าฝืนอาจได้รับผลกระทบอย่างใดอย่างหนึ่ง" นายธีรภัทร์กล่าว
นายธีรภัทร์ กล่าวด้วยว่า มติดังกล่าวหากจะให้ศาลวินิจฉัยจะต้องเกิดกรณีขึ้นมาก่อน
และคิดว่ามติของ กกต.ไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใดพรรคหนึ่ง และคงไม่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งด้วย อย่างไรก็ตาม เห็นว่าแต่ละพรรคก็มีหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และผู้สมัครอยู่แล้ว สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและสร้างรากฐานให้กับพรรคได้ ไม่จำเป็นยึดติดกับบุคคลจนเกินไป ไม่เช่นแล้วในอนาคต หากขาดหัวหน้าไป ก็อาจล่มสลายได้