โพลล์ชี้ ปชช.ชูแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นวาระแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “วาระแห่งชาติที่ประชาชนต้องการในรัฐบาลสมัยหน้าหลังการเลือกตั้ง : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศ” จำนวนทั้งสิ้น 3,758 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินโครงการสำรวจในระหว่างวันที่ 15-20 ตุลาคม 2550 ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 80 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำ ทุกสัปดาห์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

ส่วนประเด็นที่น่าจะเป็นวาระแห่งชาติในรัฐบาลสมัยหน้าหลังการเลือกตั้งที่ประชาชนต้องการเห็น

ผลสำรวจพบ 10 อันดับแรก ได้แก่ แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประชาชน การแก้ปัญหายาเสพติด การแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การดำเนินการกับอดีตรัฐมนตรี นักการเมืองและข้าราชการที่ทุจริตคอร์รัปชั่น การจัดระเบียบสังคม การลดความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมือง การสานต่อโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ อาทิ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง คุณภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและคนพิการ คุณภาพการศึกษาของประชาชน และความอยู่ดีมีสุขของประชาชน


ทั้งนี้ ปัจจัยที่ประชาชนจะใช้ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

พบว่าร้อยละ 51.9 จะพิจารณาทั้งจากพรรคและตัวบุคคล ร้อยละ 28 ดูที่ตัวบุคคลมากกว่า และร้อยละ 20.1 ดูที่พรรคมากกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าร้อยละ 36.8 ชอบพรรคการเมืองที่ซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 25.4 ชอบพรรคการเมืองที่มีผลงานในอดีต แก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ร้อยละ 12.7 ชอบพรรคที่มีความสามัคคี ไม่วุ่นวาย ร้อยละ 9.1 ชอบพรรคที่ใกล้ชิดลงพื้นที่เข้าถึงประชาชน ขณะที่ร้อยละ 5.7 ชอบความมั่นคง ยาวนานของพรรค สำหรับกรณีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลชี้นำในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน พบว่าร้อยละ 56.3 เป็นคนในครอบครัว ร้อยละ 41.4 ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ร้อยละ 40.4 สื่อมวลชน ร้อยละ 36.2 คือเพื่อน และร้อยละ 35.3 คือผู้นำในท้องถิ่น

การสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ ยังสำรวจความเอนเอียงในพฤติกรรมการรับเงิน/สิ่งของหรือผลประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อแลกกับการออกเสียงลงคะแนนนั้น

พบว่าร้อยละ 64.6 ระบุจะรับหากมีคนเสนอเงิน/สิ่งของหรือผลประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อแลกกับการออกเสียงลงคะแนนให้ ในขณะที่ร้อยละ 35.4 ระบุไม่รับ และที่น่าเป็นห่วงคือร้อยละ 82.9 ระบุจะไม่แจ้งกรรมการการเลือกตั้งหรือเจ้าหน้าที่เมื่อพบเห็นการซื้อเสียง โดยร้อยละ 66.7 ระบุปัญหาการซื้อสิทธิ-ขายเสียงของการเมืองไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับรุนแรงมาก-มากที่สุด สำหรับความคิดเห็นต่อกรณี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง จะเข้ามาดูแลเรื่องการป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงนั้น ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 52.2 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 27.7 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 20.1 ไม่มีความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์